ติ๊กต๊อก (TikTok) เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ว่า กำลังเปิดตัวเครื่องมือใหม่เพื่อช่วยให้ผู้สร้างคอนเทนต์สามารถติดป้ายกำกับเนื้อหาที่สร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ซึ่งเป็นความพยายามของบริษัทในการควบคุมข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ติ๊กต๊อกระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้ปฏิบัติตามนโยบาย AI ของติ๊กต๊อกได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ซึ่งกำหนดให้เนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านการดัดแปลงให้มีความสมจริง ต้องติดป้ายระบุว่า เป็นภาพปลอมที่ถูกสร้างขึ้น หรือเป็นภาพจริงที่ผ่านการตัดต่อดัดแปลงขึ้นมา
ติ๊กต๊อกไม่อนุญาตให้ใช้ดีปเฟค (Deepfake) ซึ่งเป็นวิดีโอหรือภาพปลอมเสมือนจริงที่สร้างขึ้นหรือดัดแปลงโดย AI ซึ่งทำให้ผู้คนสับสนว่าเป็นเนื้อหาจริง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น
นอกจากนี้แล้ว ติ๊กต๊อกยังไม่อนุญาตให้มีการปลอมแปลงข้อมูลส่วนบุคคลของใครก็ตาม รวมถึงผู้เยาว์ แต่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงรูปภาพหรือวิดีโอของคนดังที่เป็นบุคคลสาธารณะในบางบริบท เช่นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านศิลปะและการศึกษา
ติ๊กต๊อกจะเริ่มทดลองใช้การติดป้ายกำกับที่ระบุว่า "สร้างขึ้นโดย AI" (AI-Generated) ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะนำไปใช้สำหรับเนื้อหาที่ตรวจพบว่ามีการแก้ไขหรือสร้างขึ้นโดย AI นอกจากนี้ ติ๊กต๊อกจะเปลี่ยนชื่อเอฟเฟกต์บนแอปฯ ที่ใช้ AI โดยจะมีการระบุว่า "AI" ในชื่อเอฟเฟกต์เหล่านั้น และมีป้ายกำกับที่ชัดเจน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของติ๊กต๊อกมีขึ้นท่ามกลางกระแสความกังวลว่า การแข่งขันเพื่อพัฒนา AI ให้ดียิ่งขึ้นนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ดำเนินการมากขึ้นเพื่อรับมือกับข้อมูลปลอมด้วยการติดป้ายกำกับบนข้อความ, รูปภาพ และเนื้อหาอื่นใดก็ตามที่สร้างขึ้นโดย AI