จีนและอินเดีย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของผลผลิตไฟฟ้าในเอเชีย และเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดนั้น ลดการใช้พลังงานหมุนเวียนลงและหันไปใช้พลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยภาวะขาดแคลนไฟฟ้าพลังน้ำและการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น
ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ๆ หลายแห่งของเอเชียได้เผชิญกับการขาดแคลนพลังงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศสุดขั้ว ได้แก่ อุณหภูมิที่ร้อนจัดและปริมาณน้ำฝนที่ลดลงทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของจีนและเวียดนาม รวมถึงพื้นที่ทางตะวันออกและทางตอนเหนือของอินเดีย
เอ็มเบอร์ ระบุว่าการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ถ่านหิน ซึ่งมีการใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองอุปสงค์ด้านไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการขาดแคลนอุปทาน ยิ่งเน้นย้ำถึงความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในช่วง 7 เดือนจนถึงเดือน ก.ค. ผลผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของเอเชียลดลง 17.9% ส่วนพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มขึ้น 4.5%
นายคาร์ลอส ดิอาซ ตอร์เรส ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดพลังงานและก๊าซของริสตาด เอเนอร์จี (Rystad Energy) กล่าวว่า "แม้ว่าการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในเอเชียจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ผลผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็เพิ่มขึ้นเช่นกันในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลดลงอย่างมาก"
"คลื่นความร้อนที่รุนแรงและกินเวลายาวนานทั่วภูมิภาคส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดต่ำลง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ต้องมีแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อช่วยตอบสนองความต้องการไฟฟ้า" นายตอร์เรส กล่าว
การวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของจีนในช่วง 8 เดือนจนถึงเดือนส.ค. ลดลง 15.9% ซึ่งเป็นอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2532
ส่วนที่อินเดีย ข้อมูลการวิเคราะห์ของรัฐบาลระบุว่า การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลดลง 6.2% ในช่วง 8 เดือนจนเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ในขณะที่ส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือ 9.2% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบอย่างน้อย 19 ปี