บรรดาประเทศหมู่เกาะที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เผชิญหน้ากับประเทศร่ำรวยในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในสัปดาห์นี้ โดยระบุว่าความล้มเหลวของประเทศที่พัฒนาแล้วในการดำเนินการอย่างเร่งด่วนด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น ได้ส่งผลให้ประเทศหมู่เกาะเผชิญกับความเสี่ยงในการอยู่รอด
นายฟิลิป ปิแอร์ นายกรัฐมนตรีเซนต์ลูเซียกล่าวในที่ประชุมเมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย.) ว่า "หมู่เกาะเล็กๆ จำนวนมากในโลกถูกล้อมรอบไปด้วยระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และถูกความร้อนแผดเผาจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้นำหลายคนซึ่งกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมได้เน้นย้ำว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วขาดความเร่งด่วนในการแก้ปัญหา และระบุว่าความล้มเหลวในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเพียงพอนั้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อบรรดาประเทศหมู่เกาะ และประเทศที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2558 นั้น ประเทศต่าง ๆ ตั้งเป้าที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจะช่วยลดผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากภาวะโลกร้อนได้
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
"น่าเสียดายที่ประชาคมโลกไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส" เวสลีย์ ซิมินา ประธานาธิบดีของไมโครนีเซียระบุในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.)