สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลการวิเคราะห์ของศูนย์ความคืบหน้าการควบคุมยาสูบโลก (Global Tobacco Control Progress Hub) ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) ระบุว่า ความคืบหน้าด้านนโยบายการลดการใช้ยาสูบชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งบ่งชี้ว่า ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะยังคงสูบบุหรี่ต่อไป
ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าว ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (ASH) ของแคนาดา ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก สคูล ออฟ พับลิค เฮลธ์ (John Hopkins Bloomberg School of Public Health) ได้ติดตามการออกกฎหมายตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระดับโลกที่มุ่งเป้าไปที่การลดการสูบบุหรี่
หน่วยงานพบว่า ระหว่างปี 2563-2565 มีการชะลอตัวลงของการดำเนินการตามมาตรการหลัก 6 ประการของอนุสัญญา อาทิ การเพิ่มภาษี การห้ามโฆษณาและห้ามส่งเสริมการขาย และกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
นายเลส ฮาเกน กรรมการบริหารของ ASH แคนาดากล่าวว่า แม้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลไขว้เขว แต่การชะลอตัวเรื่องมาตรการยาสูบที่เกิดขึ้นก็นับเป็นเรื่อง "น่ากังวล" เช่นเดียวกัน พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มความพยายามมากขึ้น
นายฮาเกนเตือนว่า การดำเนินการที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลร้ายแรงต่อหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป
นายฮาเกนระบุว่า การวิเคราะห์ดังกล่าว ซึ่งอิงจากการรายงานของประเทศต่าง ๆ ต่อ WHO บ่งชี้ว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดรายงานว่า ไม่มีการยกระดับหรือลดการดำเนินการตามนโยบายด้านยาสูบที่สำคัญ ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ระบุว่ามีการยกระดับการดำเนินการขึ้น
ทั้งนี้ หน่วยงานระบุว่า การดำเนินงานที่ชะลอตัวลงมากที่สุดเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้