เมตา (Meta) ประกาศในวันพุธ (6 ธ.ค.) ว่า การโทรและการแชตส่วนตัวของผู้ใช้แอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์ (Messenger) ทุกคนนั้น จะถูกเข้ารหัสโดยอัตโนมัติ ซึ่งนับเป็นการอัปเดตที่ทำให้เมสเซนเจอร์มีความคล้ายคลึงกับวอทส์แอป (WhatsApp) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแอปแชตยอดนิยมของเมตา
นางลอร์ดานา คริสเซน ผู้อำนวยการของเมสเซนเจอร์เปิดเผยว่า เนื่องด้วยเทคโนโลยีการเข้ารหัสทำให้ "ไม่มีใครสามารถมองเห็นสิ่งที่ส่งหรือพูดออกไปได้ แม้แต่เมตาก็ตาม เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเลือกรายงานข้อความถึงเรา"
นางคริสเซนกล่าวว่า ในการเข้ารหัสแชตของเมสเซนเจอร์ทั้งหมดนั้น เมตาจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่านานเพียงใด อย่างไรก็ตาม เมตากำลังใช้ "หลักการการเข้ารหัส" ที่หลากหลาย เพื่อแจ้งกลยุทธ์ รวมถึงหลักการที่เมตาพัฒนาขึ้นเองในองค์กร และอีกหลักการหนึ่งซึ่งใช้โดยแอปส่งข้อความเข้ารหัสยอดนิยมอย่างซิกแนล (Signal)
ตั้งแต่ปี 2559 ผู้ใช้เมสเซนเจอร์สามารถเลือกหรือยินยอมให้มีการปกป้องแชตของตนผ่านกระบวนการเข้ารหัสจากต้นทางถึงปลายทาง (end-to-end) ซึ่งจะรบกวนการสื่อสารของผู้ใช้ ทำให้บุคคลที่สามไม่สามารถดักฟังและเข้าถึงข้อมูลได้
ทั้งนี้ แม้ว่าวอทส์แอปจะใช้การเข้ารหัสแบบ end-to-end เช่นเดียวกัน แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นส่วนตัวมองว่าซิกแนลเป็นบริการด้านการสื่อสารที่ปลอดภัยกว่า เนื่องจากเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้น้อยกว่า
นายมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตากล่าวผ่านโพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันพุธ (6 ธ.ค.) ว่า "หลังจากการทำงานเพื่อสร้างเมสเซนเจอร์ขึ้นมาใหม่เป็นเวลาหลายต่อหลายปี เราได้อัปเดตแอปด้วยการเข้ารหัสแบบ end-to-end เป็นค่าเริ่มต้นสำหรับการโทรและข้อความส่วนตัวทั้งหมด ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับทีมที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้"
ในปี 2562 นายซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่า บริษัทจะนำเทคโนโลยีการเข้ารหัสมาใช้ในการบริการแอปสื่อสารส่วนบุคคลทั้งหมดของบริษัท โดยเน้นย้ำถึงการผลักดันเรื่องความสำคัญของความเป็นส่วนตัว ซึ่งเขากล่าวว่าเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค โดยผู้คนต้องการการเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ในลักษณะที่คล้ายกับการพูดคุยในห้องนั่งเล่น