องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) รายงานในวันนี้ (14 ธ.ค.) ว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มีนักข่าวเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ 45 คน ลดลงจาก 61 คนในปีที่แล้ว นับเป็นจำนวนการเสียชีวิตที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 ที่มีผู้เสียชีวิต 33 คน โดยสาเหตุหลักมาจากจำนวนที่ลดลงอย่างมากในลาตินอเมริกา
แม้มีนักข่าว 63 คนเสียชีวิตในตะวันออกกลางนับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. แต่มีเพียง 17 คนเท่านั้นที่เข้าข่ายตามคำจำกัดความของ RSF
นายคริสตอฟ เดอลัวร์ เลขาธิการของ RSF เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า "เหตุการณ์ในกาซาเป็นโศกนาฏกรรม แต่เรากำลังเห็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง และห่างไกลจากปี 2555 และ 2556 ที่มีนักข่าวเสียชีวิต 140 คนเนื่องจากสงครามในซีเรียและอิรัก"
สาเหตุของการลดลงนี้มาจากความพยายามขององค์กรระหว่างประเทศและ NGO ในการหยุดยั้งการโจมตีนักข่าว และความระมัดระวังมากขึ้นของตัวนักข่าวเอง
จากผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ 17 คนในตะวันออกกลาง ในจำนวนดังกล่าวประกอบด้วย 13 คนถูกกองกำลังอิสราเอลสังหารในกาซา อีก 3 คนเสียชีวิตในเลบานอน และอีก 1 คนถูกกลุ่มฮามาสสังหารในอิสราเอล
RSF ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในข้อหา "อาชญากรรมสงคราม" สำหรับเหตุการณ์เสียชีวิตเหล่านี้
ในยูเครน มีนักข่าวเสียชีวิต 2 คนในปี 2566 รวมถึงนายอาร์มัน โซลดิน นักข่าวของเอเอฟพี ซึ่งเป็นนักข่าวเพียงคนเดียวที่เสียชีวิตนอกประเทศบ้านเกิด
ในลาตินอเมริกา มีจำนวนนักข่าวเสียชีวิตลดลงอย่างมาก โดยในปีนี้มีผู้เสียชีวิตเพียง 6 คน จากเดิม 26 คนในปี 2565 ส่วนในเม็กซิโกเพียงประเทศเดียวมีจำนวนลดลงเหลือ 4 คน จาก 11 คนในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม RSF ระบุว่า เม็กซิโกยังคงถือเป็นประเทศอันตรายสำหรับนักข่าว เนื่องจากการลักพาตัวและการโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณ 1 ใน 3 ของนักข่าว 84 คนที่หายสาบสูญทั่วโลกนั้น หายตัวไปในเม็กซิโก
ขณะเดียวกัน จำนวนนักข่าวที่ถูกคุมขังลดลงเล็กน้อยจาก 569 คนในปี 2565 เหลือ 521 คนในปีนี้ โดยเบลารุส จีน และเมียนมาเป็นประเทศที่มีจำนวนนักข่าวถูกคุมขังมากที่สุด นอกจากนี้ ตุรกีและอิหร่านยังคงคุมขังนักข่าวหลายครั้งเช่นกัน
อนึ่ง จำนวนนักข่าวที่ถูกจับเป็นตัวประกันลดลงจาก 65 คนในปี 2565 เหลือ 54 คนในปีนี้