สายการบินอลาสกา แอร์ไลน์ เปิดเผยเมื่อวันพุธ (10 ม.ค.) ว่าจะยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดที่ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9 ไปจนถึงวันเสาร์นี้ (13 ม.ค.) เนื่องจากทางสายการบินยังคงรอการอนุมัติตามกฎข้อบังคับเพื่อกลับมาบินต่อได้อีกครั้ง หลังเกิดเหตุชิ้นส่วนบริเวณผนังเครื่องบินหลุดกลางอากาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (5 ม.ค.) จนนักบินต้องรีบนำเครื่องลงจอดฉุกเฉิน ซึ่งทางโบอิ้งคาดว่าเป็นปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพ (quality control) หรือหลุด QC
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้เที่ยวบินรายวันของอลาสกา แอร์ไลน์ ถูกยกเลิกไปประมาณ 20% เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน โดยยกเลิกเที่ยวบินไป 150 เที่ยวในวันนี้ (11 ม.ค.)
เมื่อวันเสาร์ (6 ม.ค.) สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) สั่งห้ามบินเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9 จำนวน 171 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง MAX 9 จำนวน 65 ลำของอลาสกา แอร์ไลน์ด้วย เนื่องจากเครื่องบินเหล่านี้ใช้ชิ้นส่วนบริเวณผนังเครื่องบินแบบเดียวกับลำที่เกิดเหตุ
ขณะเดียวกัน สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ผู้ให้บริการเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9 จำนวน 79 ลำ ก็ได้ยกเลิกเที่ยวบิน 167 เที่ยวไปเมื่อวานนี้ และคาดว่าจะมีการยกเลิกเพิ่มอีกหลายเที่ยวในวันนี้ด้วยเช่นกัน
ด้านนายพีต บูติเจิจ รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐ ไม่ได้ระบุว่า FAA จะอนุญาตให้เครื่องบินเหล่านี้กลับมาบินได้อีกครั้งเมื่อใด แต่ย้ำว่าจะทำได้ก็ต่อเมื่อปลอดภัยแล้วเท่านั้น
นายเดวิด คัลฮูน ซีอีโอของโบอิ้งให้สัมภาษณ์กับทาง CNBC เมื่อวานนี้ว่า เหตุชิ้นส่วนบริเวณผนังเครื่องบิน MAX 9 หลุดกลางอากาศหลังทำการบินมาได้เพียงแค่ 8 สัปดาห์นั้น เกิดจากปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพหรือหลุด QC แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญอื่น ๆ อีกที่ต้องการคำตอบ
"เกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นในระหว่างการตรวจสอบของเรา เกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นในชิ้นงานเบื้องต้นที่ทำให้หลุดการตรวจสอบไปได้" นายคัลฮูนกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันอังคาร (9 ม.ค.) โบอิ้งแจ้งกับพนักงานว่า ผลการตรวจสอบปัญหานั้นให้ถือเป็น "ปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพ" และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบกับสปิริต แอโรซิสเต็มส์ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของโบอิ้ง
นายคัลฮูนกล่าวว่า เขาได้พูดคุยกับนายบูติเจิจและนายไมค์ วิเทเกอร์ ผู้บริหาร FAA เพื่อให้แน่ใจว่า เหตุชิ้นส่วนบริเวณผนังเครื่องบินหลุดกลางอากาศจะไม่เกิดขึ้นกับเครื่อง MAX 9 ลำไหนอีก
ด้านเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมการบินและผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การถูกสั่งห้ามบินทำให้สายการบินต่าง ๆ ไม่พอใจกับโบอิ้ง ซึ่งประสบปัญหาด้านความปลอดภัยและด้านซัพพลายเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง