รัฐบาลอินเดียประกาศในวันพุธ (21 ก.พ.) ว่า อินเดียได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่ออนุญาตให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมอวกาศได้ 100% โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในภาคส่วนนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินเดียมีกำลังใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศมากขึ้น หลังจากที่อินเดียกลายเป็นชาติแรกของโลกที่สามารถนำยานลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน เมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว และเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่รัสเซียประสบความล้มเหลวในภารกิจลักษณะเดียวกัน
รัฐบาลอินเดียระบุในแถลงการณ์ว่า การปฏิรูปนโยบาย FDI คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการจ้างงาน และเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ สามารถจัดตั้งโรงงานผลิตภายในประเทศได้
"สิ่งนี้จะช่วยให้อินเดียสามารถเข้าถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและเงินทุนที่ต้องการ ไม่ใช่แค่เพียงภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมาจากนักลงทุนต่างชาติด้วย" นายเอเค ภัตต์ ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมอวกาศอินเดีย กล่าว
ด้วยการผลักดันของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี อินเดียได้เปิดให้ภาคเอกชนสามารถปล่อยยานอวกาศได้ และตั้งเป้าขยายส่วนแบ่ง 5 เท่าในตลาดการปล่อยยานอวกาศทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 4.73 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2575 ปัจจุบัน อินเดียครองสัดส่วน 2% ของเศรษฐกิจอวกาศทั่วโลก
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมา นายอัศวินี ไวษณวะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดีย กล่าวว่า อินเดียตั้งเป้าดึงดูด FDI ให้ได้ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ตลอด 2-3 ปีข้างหน้านี้