นักวิจัยเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการปลูกเซลล์เนื้อวัวในเมล็ดข้าว โดยกล่าวว่าเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการสร้างแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืน ราคาไม่แพง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทดแทนการเลี้ยงโคในฟาร์มเพื่อผลิตเนื้อวัว
นายฮง จินกี ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยยอนเซในกรุงโซล ผู้นำการวิจัยดังกล่าว ซึ่งเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารแมตเทอร์ (Matter) ในเดือนมี.ค. กล่าวว่า "ข้าวเนื้อวัว" เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของการวิจัยอันก้าวล้ำนี้ โดยใช้อนุภาคเมล็ดข้าวเป็นฐานสำหรับการเพาะเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมันของวัว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการวิจัยนี้ เมล็ดข้าวได้ถูกปรับด้วยเอนไซม์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนาเซลล์ จากนั้นนักวิจัยได้นำเซลล์เนื้อวัวเข้าไปผสมกับเมล็ดข้าวและเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ลูกผสมระหว่างข้าวกับเนื้อวัว โดยผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายที่ได้มีลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวสีออกชมพู
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยยอนเซไม่ใช่นักวิจัยกลุ่มแรกที่ปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องแล็บ โดยบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกต่างพากันเปิดตัวผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากห้องแล็บ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ล่าสุดคือเนื้อไก่และปลาไหลที่ผลิตจากถั่วเหลือง ซึ่งวางจำหน่ายในสิงคโปร์
ทีมนักวิจัยของนายฮงกล่าวว่า ข้าวมีข้อได้เปรียบในแง่ของความปลอดภัยด้านการแพ้อาหาร เมื่อเทียบกับถั่วเหลืองหรือถั่ว เนื่องจากคนที่แพ้ข้าวมีน้อยกว่า
"หากข้าวเพาะเลี้ยงได้รับการพัฒนาให้เป็นอาหารได้สำเร็จ ก็จะสามารถเป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนได้ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงปศุสัตว์แบบดั้งเดิม" นายฮงกล่าว
นายฮงชี้ว่า ข้าวเนื้อวัวมีโปรตีนมากกว่าข้าวปกติทั่วไปประมาณ 8% และมีไขมันมากกว่า 7% พร้อมเน้นย้ำว่าปริมาณโปรตีนนั้นมาจากสัตว์ประมาณ 18% ทำให้ข้าวเนื้อวัวนี้อุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็น
แม้มีความก้าวหน้าเหล่านี้ แต่นายฮงยอมรับว่ายังคงมีอุปสรรคทางเทคนิคที่ต้องเอาชนะ เช่นเดียวกับความท้าทายในการโน้มน้าวใจผู้บริโภคในเรื่องของรสชาติและเนื้อสัมผัสของข้าวเนื้อวัวดังกล่าว