อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นได้เพิ่มความตึงเครียดให้กับภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งอ่อนไหวอย่างมากต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีไม่ถึง 200 มิลลิเมตร ตรงกันข้ามกับลอนดอนซึ่งมีค่าเฉลี่ย 1,051 มิลลิเมตร และสิงคโปร์ที่ 3,012 มิลลิเมตร
อุณหภูมิในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อาจสูงถึง 50 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน เนื่องจาก 80% ของภูมิประเทศถูกปกคลุมไปด้วยทะเลทราย ซึ่งความร้อนจัดยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงขึ้น ตลอดจนส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในประเทศ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 ประชากร 1.8 พันล้านคนทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง โดยตะวันออกกลางเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำรุนแรงที่สุด และคาดว่าประชากรราว 83% ในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มประสบภาวะความเครียดน้ำ (water stress) ในระดับสูง
เนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นความท้าทายสำคัญของตะวันออกกลาง หลายประเทศจึงดำเนินโครงการเพื่อมุ่งแก้ปัญหาดังกล่าว โดยในช่วงทศวรรษ 1990 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เริ่มทำฝนเทียม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่แห้งแล้งทั่วประเทศ
ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ชีค มานซูร์ บิน ซายิด อัล นะห์ยาน รองประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้จัดสรรงบประมาณ 20 ล้านดอลลาร์เพื่อศึกษาวิจัยการทำฝนเทียม โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ผนึกกำลังกับศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NCAR) และนาซา (NASA) เพื่อกำหนดระเบียบวิธีในการทำฝนเทียม
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้จัดตั้งศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ (NCM) ในกรุงอาบูดาบี ซึ่งมีการทำฝนเทียมมากกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปีเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝน
ทั้งนี้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติมีเครือข่ายเรดาร์ตรวจสภาพอากาศและสถานีตรวจสภาพอากาศมากกว่า 60 แห่ง ซึ่งมีหน้าที่ทำฝนเทียมในประเทศและติดตามสภาพบรรยากาศอย่างใกล้ชิด