สถาบันกุตต์มาเคอร์ (Guttmacher Institute) ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (19 มี.ค.) ว่า ในปี 2566 การทำแท้งในสหรัฐมากกว่า 60% ใช้ยามากกว่าการผ่าตัด ภายหลังคำตัดสินของศาลฎีกาสหรัฐที่ให้ยุติสิทธิในการทำแท้ง
คำตัดสินของศาลฎีกาในปี 2565 ในการยุติสิทธิในการทำแท้งส่งผลให้รัฐหลายสิบรัฐเริ่มบังคับใช้คำสั่งห้ามทำแท้งโดยมีข้อยกเว้นแบบจำกัดเท่านั้น และสั่งปิดคลินิกไปหลายแห่งเพื่อจำกัดการเข้าถึงกระบวนการทำแท้งด้วยการผ่าตัด
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีการใช้ยาแบบรับประทาน 2 เม็ดเพื่อยุติการตั้งครรภ์ในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อมูลระบุว่า จำนวนการทำแท้งด้วยยาชนิดรับประทานเพิ่มขึ้น 10% นับตั้งแต่ปี 2563
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สถาบันกุตต์มาเคอร์จะเผยแพร่รายงานทุก ๆ 3 ปี และอาศัยข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ให้บริการทำแท้งทั่วสหรัฐ
การสำรวจพบว่ามีการทำแท้งมากกว่า 1 ล้านครั้งผ่านระบบการรักษาพยาบาลของสหรัฐในปี 2566 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 ที่มีจำนวนการทำแท้งเกินหนึ่งล้านครั้ง
นางเรเชล โจนส์ นักวิทยาศาสตร์การวิจัยหลักของสถาบันกุตต์มาเคอร์ กล่าวว่า "เนื่องจากมีข้อจำกัดในการทำแท้งมากขึ้นหลังคดีด็อบส์ (Dobbs) การใช้ยาเพื่อทำแท้งอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือเป็นทางเลือกเดียวสำหรับบางคน แม้ว่าพวกเขาจะต้องการการดูแลจากบุคคลอื่นก็ตาม" โดยขยายความว่า Dobbs หมายถึง คดีของศาลฎีกาที่เปลี่ยนแปลงคำตัดสินของคดี Roe v. Wade ที่ให้สิทธิในการทำแท้งตั้งแต่ปี 2516
นางโจนส์เตือนว่า การเข้าถึงการทำแท้งด้วยยายังไม่มีความแน่นอนหรือยังคงมีความเสี่ยงอยู่
ศาลฎีกาของสหรัฐมีกำหนดรับฟังข้อโต้แย้งหรือข้อชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ 26 มี.ค. เกี่ยวกับความพยายามของฝ่ายบริหารของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อรักษาการเข้าถึงยาไมเฟพริสโตน (Mifepristone) ในวงกว้าง โดยตัวยาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยาชนิดรับประทาน 2 เม็ดที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ในปี 2543 สำหรับการยุติการตั้งครรภ์ระยะแรก
ยาไมเฟพริสโตนต้องรับประทาน 2 ชนิดใน 1-2 วัน โดยยาชนิดแรกคือ ไมเฟพริสโตน ซึ่งจะขัดขวางฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งสนับสนุนการตั้งครรภ์ และยาตัวที่สองคือไมโสพรอสทอล (Misoprostol) ซึ่งกระตุ้นให้มดลูกหดตัว