ผลวิจัยใหม่ล่าสุดส่งสัญญาณเตือนว่า ในอีกไม่นานนี้ ออสเตรเลียอาจเผชิญกับ "อภิมหาภัยแล้ง" (megadrought) ที่กินเวลายาวนานถึง 20 ปี
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ได้ใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศหลายแบบเพื่อจำลองความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียระหว่างค.ศ. 850 ถึง 2000 และพิจารณาแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ผลวิจัยพบว่า ความแห้งแล้งในภาคตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกของออสเตรเลียในศตวรรษที่ 20 นั้น กินเวลาเฉลี่ยยาวนานกว่าในยุคก่อนอุตสาหกรรม พร้อมกับเตือนว่าในไม่ช้าออสเตรเลียอาจเผชิญกับอภิมหาภัยแล้งที่กินเวลายาวนานถึง 20 ปี และผลกระทบจะยิ่งเลวร้ายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายจอร์จี ฟอลสเตอร์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจากวิทยาลัยด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์โลก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แถลงข่าวในวันนี้ (2 เม.ย.) ว่า "หนึ่งในการค้นพบที่สำคัญของเราก็คือ มีความเป็นไปได้ที่ออสเตรเลียจะเผชิญกับภัยแล้งที่ยาวนานมากกว่าครั้งไหน ๆ ในยุคสมัยใหม่ โดยเราคาดว่าอาจเกิดภัยแล้งที่กินเวลาต่อเนื่องยาวนาน 20 ปีหรือมากกว่านั้น"
"อภิมหาภัยแล้งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในออสเตรเลีย แต่ที่น่ากังวลคือตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์พ่วงเข้ามาด้วย ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดอภิมหาภัยแล้งครั้งต่อไป"
ทั้งนี้ อภิมหาภัยแล้งคือภัยแล้งที่มีความรุนแรง กินเวลายาวนาน และกินวงกว้างมากเป็นพิเศษ
เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้งในอนาคต คณะนักวิจัยแนะนำว่าชาวออสเตรเลียควรเตรียมแผนการกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำ รวมถึงสร้างเครือข่ายสนับสนุนด้านน้ำในชุมชน