มหาวิทยาลัยเอดินบะระประกาศเมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ว่า นายปีเตอร์ ฮิกส์ ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เจ้าของทฤษฎีอนุภาคฮิกส์โบซอน (Higgs boson) หรือ "อนุภาคพระเจ้า" (God particle) เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันจันทร์ (8 เม.ย.) ในวัย 94 ปี
ในปี 2555 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอนุภาคฮิกส์โบซอนที่ศูนย์วิจัยเซิร์น (CERN) ใกล้กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ที่สุดในด้านความรู้เกี่ยวกับจักรวาลในรอบกว่า 30 ปี และได้ชี้นำวงการฟิสิกส์ไปสู่แนวคิดที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น
"สำหรับผมเองแล้ว นี่เป็นเพียงการยืนยันสิ่งที่ผมได้ทำไว้เมื่อ 48 ปีก่อน และพึงพอใจอย่างยิ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่าแนวคิดนี้ถูกต้องในระดับหนึ่ง" นายฮิกส์ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวรอยเตอร์ในปี 2555
"ในตอนแรก ผมไม่คิดเลยว่าผมจะยังมีชีวิตอยู่เมื่อมีการค้นพบเกิดขึ้น"
มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ซึ่งนายฮิกส์ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์มาเป็นเวลาหลายปี กล่าวว่านายฮิกส์ได้จากไปอย่างสงบที่บ้านเมื่อวันจันทร์หลังจากป่วยมาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ
ศาสตราจารย์เซอร์ปีเตอร์ แมททิสัน ผู้อำนวยการและรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอดินบะระกล่าวว่า "ปีเตอร์ ฮิกส์ เป็นคนที่โดดเด่นมาก เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีพรสวรรค์อย่างแท้จริง วิสัยทัศน์และจินตนาการของเขาได้เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับโลกที่อยู่รอบตัวเรา"
ก่อนหน้านี้ นายฮิกส์เล่าว่าสมัยเรียนหนังสือ เขา "ไม่เก่ง" ในการทำการทดลองในห้องแล็บฟิสิกส์ และตอนแรกเขาชอบเรียนคณิตศาสตร์กับเคมีมากกว่า แต่แล้วเขาได้รู้จักกับนายพอล ดิแรก ซึ่งเรียนโรงเรียนเดียวกับเขาและกลายเป็นนักฟิสิกส์ควอนตัมในภายหลัง ทำให้นายฮิกส์มีแรงบันดาลใจหันมาเน้นศึกษาฟิสิกส์ทฤษฎีจนแตกฉาน
ทั้งนี้ อนุภาคฮิกส์โบซอนช่วยไขปริศนาว่าอนุภาคหลักมูล (Fundamental particle) หลายชนิดได้มวลมาจากไหน นั่นคือได้มวลมาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับ "สนามฮิกส์" (Higgs field) ที่มองไม่เห็น ซึ่งแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วอวกาศ
ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "กลไกของเบราต์-อ็องแกลร์-ฮิกส์" (Brout-Englert-Higgs) และส่งผลให้นายฮิกส์และนายฟร็องซัว อ็องแกลร์ จากเบลเยียม คว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2556 ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมงานของนายอ็องแกลร์อีกคนที่ชื่อนายโรเบิร์ต เบราต์ เสียชีวิตไปก่อนเมื่อปี 2554
ในปี 2507 บทความแรกของนายฮิกส์เกี่ยวกับทฤษฎีนี้ถูกปฏิเสธจากวารสารวิชาการฟิสิกส์ที่เซิร์น ด้วยเหตุผลว่าเรื่องนี้ "ไม่มีความเกี่ยวข้องกับฟิสิกส์" ต่อมา นายฮิกส์แก้ไขบทความใหม่ และแม้ว่าจะตีพิมพ์ช้ากว่าบทความของอ็องแกลร์และเบราต์หลายสัปดาห์ แต่บทความของฮิกส์ก็เป็นบทความแรกที่คาดการณ์ไว้อย่างชัดเจนถึงการมีอยู่ของอนุภาคใหม่
เป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่นักฟิสิกส์ที่เซิร์นและแฟร์มีแล็บ (Fermilab) ในนครชิคาโก พยายามทำการทดลองเลียนแบบ "บิ๊กแบง" (Big Bang) โดยการนำอนุภาคมาชนกัน ด้วยความหวังว่าจะได้เห็นอนุภาคฮิกส์โบซอนในการระเบิดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น
ในที่สุด เครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider) ของเซิร์นก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จในปี 2555 โดยมีการค้นพบอนุภาคฮิกส์โบซอนจากการทดลอง 2 ครั้งที่เป็นอิสระจากกัน
อนุภาคฮิกส์โบซอนช่วยอุดช่องโหว่ใน "แบบจำลองมาตรฐาน" (Standard Model) ซึ่งเป็นกรอบทฤษฎีพื้นฐานของฟิสิกส์ การค้นพบนี้ทำให้นักทฤษฎีเริ่มสนใจศึกษาเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับจักรวาลที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ รวมถึงแนวคิดพิสดาร เช่น ความเป็นไปได้ที่จะมีจักรวาลคู่ขนาน
อนึ่ง นายฮิกส์ ซึ่งไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า เกลียดฉายา "อนุภาคพระเจ้า" ที่สื่อชอบใช้เรียกแทนอนุภาคฮิกส์โบซอนที่ตั้งตามชื่อของเขา