กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่า เด็กมากกว่า 243 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสภาพอากาศร้อนจัด ขณะที่ทั่วภูมิภาคต้องรับมือกับฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
ยูนิเซฟเตือนว่า ฤดูร้อนนี้จะเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงและถี่กว่าปกติในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากระดับความชื้นสูงในภูมิภาคทำให้ร่างกายเย็นลงตามธรรมชาติได้ยากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ร่างกายของเด็กยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดีเท่าร่างกายของผู้ใหญ่ ส่งผลให้เด็ก ๆ เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากอากาศร้อน เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด
เดโบรา โคมินี ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของยูนิเซฟ กล่าวในวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า "เด็ก ๆ เปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ และอากาศร้อนจัดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นเราจำเป็นต้องเฝ้าระวังในฤดูร้อนนี้เพื่อปกป้องเด็ก ๆ และกลุ่มเปราะบางจากคลื่นความร้อนที่เลวร้ายและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ยูนิเซฟออกมาประกาศเตือนหลังมีรายงานว่า เดือนมี.ค.เป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันที่ความร้อนพุ่งสูงทำลายสถิติ โดยประชากรส่วนใหญ่ทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ต่างเผชิญกับอุณหภูมิพุ่งสูงทะลุเป้า
สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศร้อนจัดทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างออกคำเตือนหรือใช้มาตรการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยฟิลิปปินส์ได้ระงับการเรียนการสอนในชั้นเรียนและเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์แทนในหลายเมืองทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยขอให้ประชาชนระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก (Heat stroke) หลังจากที่มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 รายในสัปดาห์นี้