งานวิจัยฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารไซเอินซ์ (Science) ของสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดี (18 เม.ย.) ระบุว่า ประชาชน 270 ล้านรายตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ของจีนอาศัยอยู่บนแผ่นดินที่กำลังทรุดตัวลง โดยการทรุดตัวลงนี้เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้พื้นที่ตามแนวชายฝั่งของจีนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเผชิญน้ำท่วมและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
รายงานระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่เขตเมืองในจีนซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 29% หรือ 270 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศจีน กำลังเผชิญปัญหาดินทรุดตัวมากกว่า 3 มิลลิเมตร (ประมาณ 0.12 นิ้ว) ต่อปี
ขณะที่ประชากรจีน 67 ล้านรายกำลังอาศัยอยู่บนแผ่นดินที่ทรุดตัวลงมากกว่า 10 มิลลิเมตร (0.4 นิ้ว) ต่อปี
นักวิจัยระบุว่า การสูบน้ำบาดาลในปริมาณมากของจีนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ดินทรุดตัวลง โดยเมืองต่าง ๆ ของจีนสูบน้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินเร็วกว่าที่น้ำจะสามารถกลับมาเติมเต็มดังเดิม ซึ่งจีนต้องสูบน้ำบาดาลเพิ่มมากขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะภัยแล้งอันเกิดจากผลพวงของปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยการสูบน้ำบาดาลมากเกินไปได้ลดระดับน้ำใต้ดินและส่งผลให้เกิดปัญหาดินทรุดตัว
อีกปัจจัยที่ทำให้ดินทรุดตัวคือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของเมืองต่าง ๆ โดยดินจะอัดแน่นเข้าด้วยกันจากน้ำหนักของตะกอนที่สั่งสมตามกาลเวลาและจากอาคารน้ำหนักมากที่กดผิวดินส่งผลให้ดินทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐระบุว่า ดินทรุดตัวไม่ใช่ปัญหาของจีนเพียงประเทศเดียว เพราะในสหรัฐเอง เมืองชายฝั่งหลายสิบแห่ง เช่น นิวยอร์กซิตี้ ก็กำลังเผชิญปัญหาดินทรุดตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่ในเนเธอร์แลนด์ 25% ของที่ดินทรุดตัวลงต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และในกรุงเม็กซิโกซิตี้ของเม็กซิโก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเมืองที่ดินทรุดตัวลงเร็วที่สุดในโลก กำลังเผชิญภาวะดินทรุดตัวลงที่ความเร็วสูงสุด 50 เซนติเมตร หรือเกือบ 20 นิ้วต่อปี
ผลกระทบจากแผ่นดินทรุดตัวในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมักจะรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในเวลาเดียวกัน โดยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ที่ดิน ประชาชน และที่อยู่อาศัยจำนวนมากขึ้นเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมรุนแรง