ทั้งนี้ สิงคโปร์แอร์ไลน์ระบุในวันนี้ (24 พ.ค.) ว่าทางสายการบินจะใช้กฎระเบียบที่ระมัดระวังมากขึ้นในการจัดการกับปัญหาสภาพอากาศปั่นป่วน หลังเครื่องบินเที่ยวที่ SQ321 ตกหลุมอากาศแบบกะทันหันเมื่อวันอังคารที่ 21 พ.ค. ทำให้ต้องร่อนลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิในกรุงเทพฯ โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้โดยสารชายรายหนึ่งเสียชีวิต และผู้โดยสารอีกหลายสิบคนยังต้องพักรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บรุนแรงในโรงพยาบาลของไทย เช่น อาการบาดเจ็บบริเวณเส้นประสาทไขสันหลังและศีรษะ
สิงคโปร์แอร์ไลน์ระบุว่า สายการบินจะระงับบริการอาหารบนเครื่องบินหากสัญญาณเตือนรัดเข็มขัดนิรภัยถูกเปิด นอกเหนือไปจากการระงับการให้บริการเครื่องดื่มชนิดร้อน ส่วนลูกเรือจะต้องกลับไปนั่งประจำที่พร้อมรัดเข็มขัดนิรภัย
ขณะเดียวกัน สิงคโปร์แอร์ไลน์ระบุว่าจะเดินหน้าทบทวนขั้นตอนการให้บริการของทางสายการบินต่อไป โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของลูกเรือและผู้โดยสารเป็นอันดับแรก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กฎระเบียบใหม่ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ไม่ได้บังคับให้ผู้โดยสารทุกคนต้องรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทางโดยไม่คำนึงถึงสภาพการบินในขณะนั้น ซึ่งปกติแล้วสายการบินต่าง ๆ จะเพียงแค่แนะนำให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง และสั่งให้นั่งประจำที่พร้อมรัดเข็มขัดนิรภัยเฉพาะช่วงที่สภาพอากาศไม่คงที่เท่านั้น
รายงานระบุว่า อาการบาดเจ็บที่ผู้โดยสารบนเครื่องบินเที่ยวที่ SQ321 ได้รับนั้นได้เน้นย้ำให้เห็นถึงผลกระทบที่ผู้โดยสารที่ไม่รัดเข็มขัดนิรภัยได้รับเมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศแบบกะทันหัน โดยผู้โดยสารที่ไม่รัดเข็มขัดนิรภัยถูกเหวี่ยงเข้าใส่เพดานห้องโดยสาร ขณะที่ สิ่งของส่วนตัวและอุปกรณ์เกี่ยวกับการให้บริการอาหารเช้าบนเครื่องบินตกกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ
ด้านโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) ว่า ผู้โดยสารประมาณ 22 รายกำลังรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณเส้นประสาทไขสันหลัง ส่วนผู้โดยสารอีก 6 รายบาดเจ็บบริเวณกระโหลกและสมอง ขณะที่ ผู้โดยสาร 20 รายอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU) และ 17 รายต้องเข้ารับการผ่าตัด