โครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service ? C3S) ของสหภาพยุโรป (EU) ระบุในวันพุธ (5 มิ.ย.) ว่า แต่ละเดือนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาล้วนถูกจัดให้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบรายปี ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยง "วิกฤตสภาพภูมิอากาศ"
C3S ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกตลอดระยะเวลา 12 เดือนจนถึงเดือนพ.ค. สูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุคอุตสาหกรรม 1.63 องศาเซลเซียส (2.9 องศาฟาเรนไฮต์) ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวมีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2483
อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนดังกล่าวนั้นไม่ได้หมายความว่าอุณหภูมิโลกได้สูงเกินเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) เป็นการถาวรแล้ว ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงหลายทศวรรษ และบรรดานักวิทยาศาสตร์เตือนว่า อุณหภูมิที่สูงเกินเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบที่รุนแรงและยาวนาน
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุในรายงานอีกฉบับว่า ขณะนี้มีโอกาส 80% ที่อย่างน้อย 1 ใน 5 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นปีแรกที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียสเป็นการชั่วคราว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโอกาส 66% เมื่อปีที่แล้ว
นายกูเตอร์เรสกล่าวถึงรายงานดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่า โลกกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ผิดพลาดอย่างรวดเร็วเพียงใดและห่างไกลจากการรักษาเสถียรภาพของระบบภูมิอากาศมากแค่ไหน พร้อมเรียกร้องให้ลดการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกลง 30% ภายในปี 2573 ขณะที่เหลือเวลาน้อยลงทุกที