ผลสำรวจชี้ชาวโลกชอบเสพข่าวจากอินฟลูฯ ไม่ไว้ใจข่าวที่สร้างโดย AI,ไม่อยากสมัครสมาชิก

ข่าวต่างประเทศ Monday June 17, 2024 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานที่เผยแพร่โดยสถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ (Reuters Institute for the Study of Journalism) พบว่า คนทั่วโลกกังวลกันมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ AI ในการผลิตข่าวและการเผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ ๆ สำหรับสำนักข่าวต่าง ๆ ที่ก็ประสบปัญหาอยู่แล้วในการดึงดูดผู้อ่าน/ผู้ชม

รายงานข่าวดิจิทัลประจำปี (Digital News Report) ของสถาบันฯ ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (17 มิ.ย.) โดยใช้ผลสำรวจจากประชาชนเกือบ 100,000 คนใน 47 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคที่สำนักข่าวต่าง ๆ ต้องเผชิญในการหารายได้และการประคับประคองธุรกิจ

รายงานพบว่า ผู้บริโภคไม่ไว้ใจการใช้ AI ในการสร้างเนื้อหาข่าว โดยเฉพาะประเด็นที่ละเอียดอ่อน เช่น ข่าวการเมือง

ผลสำรวจพบว่า 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐ และ 63% ในสหราชอาณาจักร รู้สึกไม่สบายใจกับข่าวที่ผลิตขึ้นด้วย AI เป็นส่วนใหญ่ รายงานนี้ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 2,000 คนในแต่ละประเทศ โดยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกสบายใจมากกว่ากับการใช้ AI ในงานเบื้องหลังเพื่อช่วยให้งานของนักข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"น่าประหลาดใจที่เห็นระดับความไม่ไว้ใจมากขนาดนี้ คนส่วนใหญ่กลัวเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับความน่าเชื่อถือของเนื้อหาและความน่าไว้วางใจ" นายนิค นิวแมน ผู้ช่วยวิจัยอาวุโสของสถาบันรอยเตอร์และผู้เขียนหลักของรายงานข่าวดิจิทัลประจำปี กล่าว

ความกังวลเกี่ยวกับข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น 3 จุดเปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว โดย 59% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขารู้สึกกังวล ตัวเลขนี้ยิ่งสูงขึ้นในแอฟริกาใต้ที่ 81% และในสหรัฐที่ 72% เนื่องจากทั้งสองประเทศจะมีการเลือกตั้งในปีนี้

อีกหนึ่งความท้าทายที่องค์กรข่าวเผชิญคือ คนส่วนใหญ่ไม่เต็มใจจ่ายเงินเพื่อสมัครสมาชิกอ่านข่าว แม้ว่าช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะมียอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม แต่จากการสำรวจใน 20 ประเทศ พบว่ามีเพียง 17% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่จ่ายเงินเพื่ออ่านข่าวออนไลน์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้สมัครสมาชิกอ่านข่าวส่วนใหญ่ในสหรัฐยังมีแนวโน้มจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกเพื่ออ่านข่าวในราคาที่ถูกลง เนื่องจากมีช่วงทดลองใช้หรือได้ส่วนลดจากโปรโมชั่นต่าง ๆ โดย 46% จ่ายเงินน้อยกว่าราคาเต็ม

ขณะเดียวกัน บรรดาอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ก็มีบทบาทมากกว่าองค์กรสื่อกระแสหลักในการเผยแพร่ข่าวสารไปยังผู้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยม เช่น ติ๊กต๊อก (TikTok)

จากการสำรวจผู้ใช้ติ๊กต๊อกกว่า 5,600 คนที่ระบุว่าตนใช้แอปนี้เพื่อติดตามข่าวสาร พบว่า 57% ให้ความสนใจกับอินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก ส่วน 34% ระบุว่าตนติดตามนักข่าวหรือสำนักข่าวโดยตรง

นายนิวแมนกล่าวว่า ผลการสำรวจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สำนักข่าวต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้อ่าน/ผู้ชม พร้อมกับ "ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างมีกลยุทธ์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงได้ยากกว่า เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ เราจะเห็นได้ว่าอินฟลูเอนเซอร์มีบทบาทสำคัญมากขึ้นบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ"


แท็ก วารสาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ