ผลการศึกษาฉบับใหม่จากนักวิจัยมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันพบว่า เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่พบในโคนมสหรัฐไม่สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้โดยง่ายในกลุ่มเฟร์ริตหรือเฟอร์เรต (ferret) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกหนึ่งที่รูปร่างคล้ายพังพอน แม้นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นหัวหน้าในการวิจัยระบุว่า เชื้อ H5N1 แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่ระบาดในลักษณะนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เฟอร์เรตถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาการติดเชื้อและการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมักนำมาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่เกิดจากไวรัสอุบัติใหม่
ในการทดลองนั้น เฟอร์เรตที่ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ถูกวางไว้ใกล้กับเฟอร์เรตอีก 4 ตัวที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ไม่ใกล้พอที่จะมีการสัมผัสทางกายภาพ โดยผลการศึกษาพบว่า เฟอร์เรตทั้ง 4 ตัวไม่มีอาการป่วย และไม่ตรวจพบเชื้อไวรัสใด ๆ ในระหว่างการศึกษา
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยค้นพบในภายหลังว่า เฟอร์เรตตัวหนึ่งผลิตแอนติบอดีต้านไวรัส ซึ่งบ่งชี้ว่ามันติดเชื้อ
"เป็นข่าวดีที่ไวรัสไม่ได้แพร่เชื้อเป็นวงกว้างทางอากาศให้กับเฟอร์เรต แต่ก็เป็นเรื่องน่ากังวลว่า ไวรัสสามารถแพร่เชื้อในลักษณะนี้ได้" โยชิฮิโระ คาวาโอกะ นักวิจัยและนักไวรัสวิทยาไข้หวัดใหญ่ระบุ
ทั้งนี้ ไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อทางอากาศระหว่างมนุษย์ได้ง่ายอาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดมากกว่าเชื้อ H5N1 ในปัจจุบัน แต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกประเมินความเสี่ยงดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คน