"บลูมเบิร์ก" บริจาคเงิน 1 พันล้านดอลล์แก่ม.จอห์น ฮอปกินส์ ให้นักศึกษาแพทย์เรียนฟรี

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 9, 2024 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Bloomberg Philanthropies หรือ มูลนิธิบลูมเบิร์ก องค์กรการกุศลของอดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ไมเคิล บลูมเบิร์ก ประกาศมอบเงินบริจาคก้อนโตถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ได้เรียนฟรี

นายบลูมเบิร์กระบุในจดหมายที่เผยแพร่ในรายงานประจำปีของ Bloomberg Philanthropies ว่า การบริจาคครั้งนี้มุ่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสองประการ ได้แก่ ปัญหาด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาที่กำลังถดถอย

มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.) ว่า เงินบริจาคนี้จะครอบคลุมค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพทั้งหมดสำหรับนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ โดยนักศึกษาที่มีสิทธิ์เรียนฟรีจะต้องมาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ และหากครอบครัวของนักศึกษามีรายได้ต่อปีไม่เกิน 175,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก็จะได้ทั้งสิทธิ์เรียนฟรีและได้เงินสนับสนุนค่าครองชีพด้วย

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ไม่ใช่สถาบันการแพทย์แห่งแรกที่ได้รับเงินบริจาคก้อนโตเช่นนี้ โดยเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา วิทยาลัยแพทยศาสตร์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในนิวยอร์ก ก็เพิ่งได้รับเงินบริจาค 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจาก ดร.รูธ ก็อตส์แมน อดีตอาจารย์ประจำวิทยาลัยฯ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนฟรีเช่นกัน ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ก็กลายเป็นโรงเรียนแพทย์ระดับท็อป 10 ของประเทศแห่งแรกที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติได้เรียนฟรีตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

นายบลูมเบิร์ก ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุในจดหมายว่า อายุขัยเฉลี่ยของชาวอเมริกันยังคงตามหลังประเทศอื่น ๆ นับตั้งแต่เกิดโควิด-19

นอกจากนี้ นายบลูมเบิร์กกล่าวว่า โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อการศึกษาของรัฐอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเรียนทางไกลที่กลายเป็นหายนะสำหรับนักศึกษา"

นายบลูมเบิร์กกล่าวว่า ค่าเล่าเรียนแพทย์ที่สูงลิ่วเป็นอุปสรรคต่อการสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย และเขาเชื่อว่าการแก้ไข "วิกฤตด้านสาธารณสุข" ในครั้งนี้ ควรได้รับความร่วมมือจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่

ทั้งนี้ ผลสำรวจของสมาคมวิทยาลัยแพทยศาสตร์อเมริกัน (AAMC) เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมาพบว่า นักศึกษาแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในปี 2566 เกือบ 70% มีหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยแพทย์จบใหม่มีหนี้สินเฉลี่ยมากกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ

"นักศึกษาแพทย์จำนวนมากต้องลาออกกลางคันเพราะปัญหาทางการเงิน ส่วนผู้ที่เรียนจบมักเลือกทำงานในสาขาเฉพาะทางที่ทำรายได้สูงเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ แทนที่จะเลือกสาขาที่กำลังขาดแคลนบุคลากร" นายบลูมเบิร์กกล่าว พร้อมเสริมว่า ปัจจุบันสหรัฐมีแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ก่อนหน้านี้ นายบลูมเบิร์กเคยบริจาคเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในปี 2561 เพื่อเป็นทุนช่วยเหลือนักศึกษาปริญญาตรี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ