นักวิทยาศาสตร์ระบุในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวันนี้ (26 ก.ค.) ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลให้รูปแบบปริมาณน้ำฝนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดพายุไต้ฝุ่นและพายุเขตร้อนอื่น ๆ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในสัปดาห์นี้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และจีน ต้องเผชิญกับไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดของปีนี้ ส่งผลให้โรงเรียน ธุรกิจ และตลาดการเงินต้องปิดทำการ เนื่องจากความเร็วลมพุ่งสูงถึง 227 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประชาชนหลายแสนคนตามแนวชายฝั่งตะวันออกของจีนต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อนที่พายุจะพัดขึ้นฝั่งในวันพฤหัสบดี (25 ก.ค.)
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พายุเขตร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทีมนักวิจัย นำโดยจาง เหวินเสีย จากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ได้ศึกษาข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในอดีต พบว่าประมาณ 75% ของพื้นที่บนบกทั่วโลกมี "ความแปรปรวนของหยาดน้ำฟ้า" เพิ่มสูงขึ้น หรือมีความแปรปรวนระหว่างช่วงฝนตกกับช่วงแห้งแล้งมากขึ้น
นักวิจัยกล่าวในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ว่า อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นทำให้ชั้นบรรยากาศสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนผันผวนมากขึ้น
"(ความแปรปรวน) เพิ่มขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ รวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งหมายถึงช่วงหน้าฝนจะมีฝนตกชุกขึ้นส่วนช่วงหน้าแล้งก็จะแห้งแล้งกว่าเดิม" นายสตีเวน เชอร์วูด นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ กล่าว
"แนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการเกิดภัยแล้งและ/หรือน้ำท่วม"
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพายุเขตร้อน รวมถึงพายุไต้ฝุ่น ทำให้พายุเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยลง แต่มีความรุนแรงมากขึ้น
"ผมเชื่อว่าปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดแนวโน้มปรากฏการณ์ทางอุทกวิทยาที่รุนแรงขึ้นเหล่านี้" นายเชอร์วูดกล่าวกับรอยเตอร์
อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "แกมี" (Gaemi) ซึ่งขึ้นฝั่งที่ไต้หวันเป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 ก.ค.) นับเป็นพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มเกาะแห่งนี้ในรอบ 8 ปี
ซาจิเอะ คานาดะ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโกย่าของญี่ปุ่น กล่าวว่า แม้เป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าสภาพอากาศแต่ละเหตุการณ์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ แต่โมเดลการคาดการณ์ต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนทำให้พายุไต้ฝุ่นทวีความรุนแรงมากขึ้น
"โดยทั่วไปแล้ว อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการก่อตัวของพายุไซโคลนเขตร้อน" คานาดะกล่าว
ใน "สมุดปกฟ้า" ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เผยแพร่ในเดือนนี้ จีนระบุว่าจำนวนพายุไต้ฝุ่นในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 แต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ ไต้หวันยังระบุในรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ค.ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนพายุไต้ฝุ่นโดยรวมในภูมิภาคนี้ แต่จะทำให้พายุแต่ละลูกมีความรุนแรงมากขึ้น
นายเฟิง เซียงโป นักวิจัยด้านพายุไซโคลนเขตร้อนจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง กล่าวว่า จำนวนพายุไต้ฝุ่นที่ลดลงเป็นผลมาจากรูปแบบการอุ่นขึ้นของมหาสมุทรที่ไม่สม่ำเสมอ โดยอุณหภูมิในแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าฝั่งตะวันออก
นายเซียงโปคาดว่า ความจุไอน้ำในชั้นบรรยากาศระดับล่างจะเพิ่มขึ้น 7% สำหรับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 องศาเซลเซียส โดยปริมาณน้ำฝนจากพายุไซโคลนเขตร้อนในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นมากถึง 40% สำหรับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 องศาเซลเซียส