นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ธุรกิจในเมียนมาจำนวนมากขึ้นกำลังแห่มาเปิดร้านค้าและร้านอาหารในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายเสื้อผ้าและอาหารแก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่หลบหนีจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในเมียนมา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเมื่อช่วงต้นปีนี้
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับธุรกิจเมียนมาระบุว่า ธุรกิจจากเมียนมาหลายสิบรายได้เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
"สถานการณ์ในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เผชิญความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและกฎระเบียบทางการเงินที่ไร้เสถียรภาพ" เจ้าของธุรกิจรายหนึ่งซึ่งย้ายร้านมือถือและคอมพิวเตอร์จากเมียนมามาอยู่ที่กรุงเทพกล่าวว่า "ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่มีเสถียรภาพมากกว่า และตลาดกำลังเติบโตสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของเรา"
รายงานระบุว่า เนื่องจากไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีพรมแดนติดกับเมียนมา ไทยจึงเป็นตลาดธุรกิจทางเลือกให้แก่บรรดานักธุรกิจเมียนมาที่ต้องการย้ายการดำเนินงานและขยายสู่ตลาดใหม่ โดย Cherry Oo ร้านค้าปลีกนาฬิกาที่มีประวัติยาวนานเกือบ 40 ปีในเมียนมา ได้ย้ายมาเปิดร้านสาขาแรกในกรุงเทพเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากสาขาที่มีอยู่ในเมียนมา 38 แห่ง
ขณะเดียวกัน ร้านอาหารเครือ Khaing Khaing Kyaw ชื่อดังในเมียนมา ซึ่งให้บริการอาหารพม่าแบบดั้งเดิม ก็ได้ขยายธุรกิจสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน
"เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าชาวเมียนมา เราจึงได้ตัดสินใจขยายสาขาด้วยการมาเปิดอีกสาขาในกรุงเทพ" ผู้จัดการร้านกล่าว โดยระบุถึงสาขาที่ 2 ซึ่งเปิดเมื่อเดือนมี.ค. โดยเครือข่ายของร้านอาหารแห่งนี้เติบโตจนมีสาขามากกว่า 10 แห่งในเมียนมาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และเริ่มเข้าสู่ตลาดไทยครั้งแรกในเดือนพ.ย.
"ร้านอาหารทั้งสองแห่งมียอดขายที่ดี" Kyaw Shwe กล่าว พร้อมเสริมว่า ตอนนี้ทางร้านมีแผนจะเปิดสาขาที่พัทยา และอีกแห่งที่เชียงใหม่
"การขยายธุรกิจส่วนใหญ่เข้ามาในไทยต่างมีเป้าหมายเพื่อปกป้องสินทรัพย์ทางการเงิน" นางซู นักวิจัยชาวเมียนมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุ "มันไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างผลกำไรในทันที แต่เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง และการย้ายทรัพย์สินไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย"
"ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ธุรกิจต่าง ๆ ได้เห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าชาวเมียนมาในประเทศไทย" นางซูกล่าวเสริม
อย่างไรก็ดี ไม่มีตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการที่แสดงจำนวนประชากรเมียนมาที่แท้จริงในไทย แต่รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่ผ่านมาคาดว่า มีผู้อพยพทั่วไปจากเมียนมาจำนวน 1.9 ล้านคนในประเทศไทย เมื่อนับจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2566
รายงานยังระบุอีกว่า ตัวเลขประเมินล่าสุดภายหลังการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนก.พ. 2564 แสดงให้เห็นว่า มีผู้อพยพจากเมียนมา 5 ล้านคนทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสาร ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารที่ประกาศใช้ในเดือนก.พ.ปีนี้ ยิ่งเป็นเหตุให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากหลบหนีออกจากเมียนมา ซึ่งส่งผลให้มีการขยายตัวในชุมชนเมียนมาและฐานผู้บริโภคในประเทศไทย
บรรดาธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ร้านอาหารแบบดั้งเดิมของเมียนมาไปจนถึงร้านโทรศัพท์มือถือ และร้านค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น กำลังไล่ตามลูกค้าและใช้ประโยชน์จากความต้องการความสะดวกสบายที่คุ้นเคยและสินค้าจำเป็นในหมู่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทย