อนามัยโลกเตรียมพิจารณาประกาศโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก

ข่าวต่างประเทศ Monday August 12, 2024 11:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง (monkeypox) หรือ mpox ที่เพิ่มมากขึ้นในทวีปแอฟริกา โดยส่งสัญญาณว่า อาจประกาศให้การระบาดครั้งนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่สำคัญ

นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ได้ทวีตข้อความในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินในวันพุธที่ 14 ส.ค.นี้

ดร.กีบรีเยซุสทวีตว่า "ผมจะจัดประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินเกี่ยวกับการระบาดของโรคฝีดาษลิงในวันพุธที่ 14 ส.ค. 2567 คณะกรรมการจะให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดว่าถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดความกังวลในระดับนานาชาติหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น คณะกรรมการจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรค รวมถึงดำเนินการรับมือด้านสาธารณสุขระดับโลก"

สถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นยังกระตุ้นให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa CDC) พิจารณาการดำเนินการที่คล้ายคลึงกัน

ดร.ฌอง กาเซยา ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกากล่าวว่า การตัดสินใจที่ใกล้จะเกิดขึ้นของ WHO เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมการระบาดและระดมทรัพยากรเพื่อการตอบสนองอย่างมีประสิทธิผล โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศอย่างเป็นทางการสามารถช่วยเพิ่มการผลิตเครื่องมือวินิจฉัยภายในแอฟริกา และลดข้อจำกัดการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น

"การพุ่งสูงขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาในช่วงที่ผ่านมานั้นน่าตกใจ" ดร.กาเซยากล่าว "ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เพียงช่วงเดียว มีรายงานผู้ติดเชื้อมากกว่า 14,000 รายใน 10 รัฐของสหภาพแอฟริกา โดยมีผู้ติดเชื้อยืนยัน 2,750 รายและเสียชีวิต 450 ราย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้น 160% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และการแพร่ระบาดของโรคนี้ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา ซึ่งไม่เคยพบผู้ติดเชื้อมาก่อนนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง"

ตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 มีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 38,000 รายและเสียชีวิต 1,456 รายทั่วทั้งทวีป โดยตัวเลขของปี 2567 เท่ากับตัวเลขของปี 2566 ภายในเวลาเพียง 6 เดือน โดยการระบาดล่าสุดในไอวอรีโคสต์ เคนยา และยูกันดา บ่งชี้ถึงการขยายขอบเขตของโรค และทำให้เกิดความวิตกว่าโรคนี้จะลุกลามมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ