ดร.ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า โรคฝีดาษลิง หรือ เอ็มพอกซ์ (mpox) จะไม่ระบาดรุนแรงเหมือนกับโรคโควิด-19 และความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไปยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (20 ส.ค.) ดร.คลูจได้ปฏิเสธการเปรียบเทียบโรคฝีดาษลิงกับโควิด-19 โดยเน้นย้ำว่า "เราสามารถและต้องร่วมมือกันจัดการกับโรคฝีดาษลิงในทุกภูมิภาคและทุกทวีป"
ดร.คลูจกล่าวว่า "เราต้องเลือกว่าจะวางระบบเพื่อควบคุมและกำจัดโรคฝีดาษลิงทั่วโลก หรือเราจะเพิกเฉยและตกอยู่ในวงจรแห่งความแตกตื่นอีกรอบ" พร้อมเสริมว่า "แนวทางการรับมือทั้งในปัจจุบันและอีกหลายปีต่อจากนี้จะเป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับยุโรปและทั่วโลก"
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า WHO ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี หลังจากพบว่าการระบาดในประเทศคองโกได้แพร่กระจายไปสู่ประเทศข้างเคียงในทวีปแอฟริกา
โรคฝีดาษลิงเป็นการติดเชื้อไวรัสที่พบไม่บ่อยนัก ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิด โดยพบมากที่สุดในแอฟริกากลางหรือแอฟริกาตะวันตก โรคนี้สามารถจำแนกได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เคลดวัน (Clade I) และสายพันธุ์เคลดทู (Clade II)
สายพันธุ์เคลดวัน ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกากลาง มักทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า การระบาดบางครั้งคร่าชีวิตผู้ป่วยมากถึง 10% ของทั้งหมด แต่การระบาดในระยะหลังมีอัตราการเสียชีวิตลดลง
ส่วนสายพันธุ์เคลดทู ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาตะวันตก เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการระบาดทั่วโลกในปี 2565 แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดย CDC รายงานว่าผู้ป่วยมากกว่า 99.9% รอดชีวิตจากสายพันธุ์นี้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (15 ส.ค.) สวีเดนกลายเป็นประเทศแรกนอกทวีปแอฟริกาที่รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์เคลดวัน
ดร.คลูจ เปิดเผยว่า "ทุกวันนี้ เรายังคงพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์เคลดทูในยุโรปประมาณ 100 รายทุกเดือน" พร้อมเสริมว่า "การเฝ้าระวังสายพันธุ์เคลดวันในขณะนี้ทำให้ยุโรปหันกลับมาสนใจสายพันธุ์เคลดทูมากขึ้นด้วยเช่นกัน"