ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบกับปัญหาการติดเชื้อจากเห็บในปี 2567 ซึ่งอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเห็บกำลังแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ และแนะนำให้ผู้คนระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายในพื้นที่กางเต็นท์และเส้นทางเดินป่า
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เห็บเป็นปรสิตแปดขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง และมักจะพบในฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วง โดยเป็นสาเหตุของโรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือโรคเห็บ (SFTS)
ทางสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวประมาณ 90 รายแล้วในปีนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในญี่ปุ่นตะวันตก
ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยโรคที่เกิดจากเห็บมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานการติดเชื้อที่ไม่เคยตรวจพบในมนุษย์มาก่อนในญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากไวรัสที่แพร่กระจายโดยเห็บ
ในปี 2556 พบผู้ติดเชื้อ SFTS ครั้งแรกของญี่ปุ่นในจังหวัดยามากูจิ ตามด้วยผู้ติดเชื้อไวรัสเยโซ (Yezo Virus) ในฮอกไกโดในปี 2564 และผู้เสียชีวิตจากไวรัสออซ (Oz Virus) ในจังหวัดอิบารากิในปี 2566
SFTS ถือเป็นไวรัสที่แพร่กระจายผ่านเห็บที่อันตรายเป็นพิเศษ โดยมีอัตราการเสียชีวิตถึง 27% ซึ่งหลังจากระยะฟักตัว 6-14 วัน จะมีอาการไข้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งทางสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติรายงานว่ามีผู้ป่วยโรค SFTS ถึง 133 รายในปี 2566
ผู้คนส่วนใหญ่ติดเชื้อจากเห็บเมื่ออยู่กลางแจ้ง แต่ก็มีบางกรณีที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่มนุษย์ และติดต่อจากคนไข้สู่แพทย์ด้วย ดังนั้นประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษในบริเวณใกล้ทุ่งนาและภูเขา
การถูกเห็บกัดมักเกิดขึ้นที่คอ ศีรษะ หรือแขนขา แต่ผู้คนมักไม่รู้สึกเจ็บหลังจากถูกกัด และอาจไม่สังเกตเห็นทันที
เมื่อเห็บดูดเลือด เห็บจะตัวใหญ่ขึ้นเกินขนาดตัวปกติหลายเท่า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า การดึงเห็บที่กำลังดูดเลือดออกด้วยกำลังนั้นเป็นอันตราย เนื่องจากในระยะนั้น เห็บได้ฝังตัวอยู่ในผิวหนังของผู้ที่ถูกดูดเลือดแล้ว และส่วนหัวหรือส่วนปากของเห็บอาจบิดออกและยังคงอยู่ในตัวของผู้ที่ถูกดูดเลือด ซึ่งอาจต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์