ญี่ปุ่นเตรียมใช้ระบบนำทางแจ้งเตือนคนขับรถย้อนศร หวังลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นศูนย์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 21, 2024 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ญี่ปุ่นเตรียมใช้ระบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาการขับรถย้อนศรบนทางด่วน โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตให้เหลือศูนย์ภายในปี 2572 หลังเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ระบบดังกล่าวจะใช้กล้องวงจรปิดเพื่อตรวจจับการขับรถย้อนศร โดยจะแจ้งเตือนผู้ขับขี่รถคันดังกล่าวและผู้ขับขี่รถคันอื่นในบริเวณใกล้เคียงผ่านระบบนำทางในรถยนต์หรือสมาร์ตโฟน

รัฐบาลเตรียมเปิดให้บริษัทต่าง ๆ ยื่นประมูลงานเพื่อพัฒนาระบบดังกล่าวภายในปีงบประมาณ 2567 จากนั้นจึงทำการทดสอบนำร่อง ก่อนที่จะนำไปใช้งานในจุดที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงก่อนเป็นอันดับแรก

กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ระบุว่า กล้องวงจรปิดบนทางด่วนถูกใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยและติดตามสภาพการจราจร รวมถึงรถเสียหรือวัตถุที่หล่นบนถนน และเนื่องจากมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดมากกว่า 15,000 ตัวทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ทางด่วนเกือบทั้งหมด ทางกระทรวงฯ จึงเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะตรวจจับการขับรถย้อนศรโดยใช้การประมวลผลภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

เมื่อตรวจพบการขับรถย้อนศร ระบบจะแจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยเสียงเตือนผ่านระบบนำทางในรถยนต์หรือผ่านแอปพลิเคชันแผนที่บนสมาร์ตโฟนที่ผู้ขับขี่ใช้กันทั่วไป นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุรถชนประสานงา รถคันอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงจะได้รับการแจ้งเตือนด้วยเช่นกัน

รายงานระบุว่า ผู้ประกอบกิจการทางด่วนจะทำหน้าที่คัดเลือกผู้พัฒนาระบบ จากนั้นทำการทดสอบนำร่องเพื่อประเมินประสิทธิภาพและระบุปัญหาของระบบ โดยระบบจะถูกติดตั้งในจุดที่เกิดอุบัติเหตุขับรถย้อนศรบ่อยครั้งก่อนเป็นอันดับแรก

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2554 มีการขับรถย้อนศรบนทางด่วนประมาณ 200 ครั้งต่อปี และแตะระดับสูงสุดที่ 259 ครั้งในปี 2558

ล่าสุดในปี 2566 มีการขับรถย้อนศรบนทางด่วน 224 ครั้ง โดย 8 ครั้งในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ขณะที่ราว 80% หรือ 185 ครั้ง สามารถสกัดรถได้ทันก่อนเกิดอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ ผู้ขับรถย้อนศรส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่อายุ 65 ปีขึ้นไป โดยคิดเป็นสัดส่วน 61.5% ของผู้ขับรถย้อนศรทั้งหมดในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 50.4% ในช่วงปี 2554-2565 และคาดว่าแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ