ผู้เชี่ยวชาญเผยเบื้องหลัง "ดิสนีย์" กลับลำยอมขึ้นศาลสู้คดีแพทย์หญิงไทยเสียชีวิต

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 21, 2024 22:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ ได้ยินยอมให้มีการนำคดีการเสียชีวิตของพญ.กนกพร แต่งสวน เข้ารับการพิจารณาในศาล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทอ้างว่าฝ่ายโจทก์ไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาล เนื่องจากกรณีดังกล่าวเข้าเกณฑ์การตั้งอนุญาโตตุลาการไกล่เกลี่ยนอกศาล ตามเงื่อนไขที่นายเจฟฟรีย์ พิกโคโล ซึ่งเป็นสามีของพญ.กนกพรได้ลงนามในสัญญารับบริการสตรีมมิ่งของ Disney+ ในปี 2562

ทั้งนี้ เงื่อนไขในสัญญารับบริการสตรีมมิ่งของ Disney+ ระบุว่า ข้อพิพาทใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจะต้องได้รับการแก้ไขนอกศาล โดยจะมีการตั้งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางและเป็นอิสระจากบุคคลภายนอก ทำให้ดิสนีย์สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งต้องใช้เวลานาน และจะต้องมีการแสดงวัตถุพยานแก่คณะลูกขุน

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ดิสนีย์ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นศาล ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคม

นายเจมี คาร์ทไรท์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในบริษัทกฎหมาย Charles Russell Speechless เชื่อว่าการกลับลำเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของดิสนีย์เกิดจากกระแสสังคมที่ไม่พอใจต่อการกระทำของบริษัท

ด้านนายจอช ดามาโร ประธานบริษัท Disney Experiences ระบุว่า "เราเชื่อว่าในสถานการณ์เช่นนี้เราควรใช้แนวทางที่ละเอียดอ่อนเพื่อหาทางออกสำหรับครอบครัวที่มีประสบการณ์ที่เจ็บปวด ดังนั้น เราได้ตัดสินใจที่จะสละสิทธิ์ของเราในการตั้งอนุญาโตตุลาการ และให้เรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล"

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2566 เมื่อนายพิกโคโล พญ.กนกพร และมารดาได้เข้ารับประทานอาหารที่ร้าน Raglan Road Irish Pub and Restaurant ใน Disney Springs ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา โดยมีการแจ้งพนักงานเกี่ยวกับอาการแพ้ถั่วและผลิตภัณฑ์นมของพญ.กนกพร ซึ่งพนักงานยืนยันว่าอาหารที่พญ.กนกพรสั่งนั้นไม่มีสารที่ทำให้เกิดการแพ้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี หลังจากรับประทานอาหารดังกล่าว พญ.กนกพรได้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งจากการชันสูตรศพพบว่าร่างกายของพญ.กนกพรมีถั่วและผลิตภัณฑ์นมในระดับสูง

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นายพิกโคโลได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีต่อบริษัทดิสนีย์ พร้อมกับเรียกเงินชดเชยจำนวนกว่า 50,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,700,000 บาท นอกเหนือจากเงินชดเชยจากการสูญเสียรายได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และการดำเนินคดีทางกฎหมาย

แต่ทางบริษัทอ้างในเดือนเม.ย.2567 ว่า บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีนี้ เนื่องจากดิสนีย์เป็นเพียงเจ้าของที่ และไม่มีส่วนในการควบคุมการดำเนินงานหรือบริหารงานของร้าน Raglan

นอกจากนี้ ในเดือนพ.ค.2567 บริษัทดิสนีย์ขอให้ศาลยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยอ้างข้อต่อสู้ใหม่ที่ระบุว่า กรณีดังกล่าวเข้าเกณฑ์การตั้งอนุญาโตตุลาการไกล่เกลี่ยนอกศาล ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่นายพิกโคโลได้ลงนามในสัญญารับบริการสตรีมมิ่งของ Disney+ และเงื่อนไขจากเว็บไซต์ของดิสนีย์ที่นายพิกโคโลได้เข้าไปเพื่อทำการซื้อตั๋วเข้าสวนสนุกในปี 2566

"การที่ดิสนีย์ตัดสินใจไม่ใช้สิทธิตั้งอนุญาโตตุลาการถือเป็นเรื่องผิดปกติ และบ่งชี้ว่าทนายความของดิสนีย์เชื่อว่าเงื่อนไขในสัญญาของ Disney+ ไม่สามารถใช้ในกรณีนี้ได้" นายโจเซฟ เซลเลอร์ ทนายความฝ่ายโจทก์ ซึ่งเคยมีผลงานในการยื่นฟ้องคดีเป็นกลุ่มคณะในศาล ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ