ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางสหรัฐในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยกฟ้องคดีที่กล่าวหาว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X (ทวิตเตอร์) บีบบังคับให้พนักงานที่เป็นผู้พิการลาออกจากงาน หลังจากที่นายอีลอน มัสก์ เข้าเทกโอเวอร์บริษัท และห้ามพนักงานทำงานจากระยะไกลหรือนอกสำนักงาน
อาราเซลี มาร์ติเนซ-โอลกิน ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐในซานฟรานซิสโก ระบุว่า ดมิทรี โบโรเดนโก โจทก์ในคดีที่ยื่นฟ้องแบบกลุ่มในปี 2565 ไม่สามารถแสดงให้ศาลเห็นว่า คำสั่งของมัสก์ให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่สำนักงานนั้น ส่งผลกระทบกับพนักงานโดยเฉพาะผู้ที่มีความพิการ ดังนั้น ผู้พิพากษาจึงให้เวลาโบโรเดนโก 4 สัปดาห์ในการแก้ไขคำฟ้องเพื่อเพิ่มรายละเอียดให้มากขึ้น
โบโรเดนโกซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและเป็นผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งระบุว่า เขาถูกไล่ออกในเวลาไม่นานหลังจากที่มัสก์เข้าเทกโอเวอร์ X เนื่องจากโบโรเดนโกปฏิเสธที่จะกลับเข้าไปทำงานในสำนักงานระหว่างที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 โดยคำฟ้องระบุว่า X ละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลางที่กำหนดให้นายจ้างต้องอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานผู้พิการ
มัสก์ระบุในบันทึกถึงพนักงานบริษัท X ในเดือนพ.ย. 2565 ว่า พนักงานควรเตรียมพร้อมที่จะตั้งใจทำงานให้เกินเวลางาน ไม่เช่นนั้นก็ต้องลาออกไป และต่อมามัสก์ได้ทวีตว่า การทำงานจากที่บ้านเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ผู้พิพากษามาร์ติเนซ-โอลกวินกล่าวเมื่อวันพุธ (21 ส.ค.) ว่า การห้ามทำงานจากระยะไกลนั้น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ
"ทฤษฎีของโบโรเดนโกอาศัยข้อสันนิษฐานที่ไม่ถูกต้องที่ว่า พนักงานที่มีความพิการทุกคนจำเป็นต้องทำงานจากระยะไกลซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม" ผู้พิพากษามาร์ติเนซ-โอลกวินระบุ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คดีของโบโรเดนโกเป็นหนึ่งในหลายคดีที่อดีตพนักงานของ X ได้ยื่นฟ้องในช่วงหลายเดือนหลังจากที่มัสก์เข้าซื้อกิจการ X ด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีการเลิกจ้างพนักงานประมาณ 75%
ส่วนคดีอื่น ๆ นั้นกล่าวหาว่า ทวิตเตอร์หรือ X ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับการเลิกจ้างต่อพนักงานประจำและพนักงานสัญญาจ้าง ไม่จ่ายเงินชดเชยหลายพันล้านดอลลาร์ตามที่สัญญาไว้ และมุ่งเป้าลดจำนวนพนักงานที่เป็นผู้หญิงและพนักงานสูงอายุ
ทั้งนี้ X ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว