องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยรายงานในวันนี้ (27 ส.ค.) ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศในหมู่เกาะซึ่งอยู่ในที่ราบต่ำ
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลกกำลังเร่งตัวขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่องนั้น ได้หลอมละลายแผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมา ขณะที่มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นส่งผลให้โมเลกุลของน้ำขยายตัวขึ้นด้วย
เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกที่ 3.4 มิลลิเมตรต่อปีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา รายงานของ WMO บ่งชี้ว่า ค่าเฉลี่ยต่อปีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ 2 แห่งที่มีการวัดในมหาสมุทรแปซิฟิกนั่นคือ ทางเหนือและตะวันออกของออสเตรเลีย
เซเลสต์ เซาโล เลขาธิการของ WMO ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมาในช่วงเวลาเดียวกันกับรายงานสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคประจำปี 2566 (State of the Climate report 2566) ในการประชุม ณ ประเทศตองกาว่า "กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้มหาสมุทรสูญเสียความสามารถในการค้ำจุนและปกป้องเรา และกำลังเปลี่ยนมหาสมุทรจากมิตรตลอดกาลไปเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น"
สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่งขึ้นบ่อยครั้งนับตั้งแต่ปี 2523 โดยมีหลายสิบครั้งที่เกิดขึ้นตามหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น หมู่เกาะคุก (Cook Islands) และเฟรนซ์โพลินีเซีย (French Polynesia) จากก่อนหน้านี้ที่เคยเกิดขึ้นไม่กี่ครั้งในแต่ละปี โดยในบางครั้ง เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีสาเหตุมาจากพายุโซนร้อนที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
โฆษกของ WMO กล่าวว่า หมู่เกาะแปซิฟิกนั้นจะได้รับผลกระทบเป็นพิเศษจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เนื่องจากอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 1 หรือ 2 เมตรเท่านั้น