สำนักข่าวรอยเตอร์นำเสนอบทวิเคราะห์ในวันนี้ (27 ส.ค.) ว่า ขณะที่เกาหลีใต้กำลังเร่งแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหล่าผู้กำหนดนโยบายกลับประสบปัญหาในการโน้มน้าวคนวัย 20-30 ปีให้เชื่อว่า การมีลูกเป็นการลงทุนที่ดีกว่าการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นหรือการรับประทานอาหารในภัตตาคารหรู
ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียแห่งนี้ จึงมีแผนจะตั้งกระทรวงใหม่เพื่อรับมือกับปัญหาประชากร หลังจากที่มาตรการจูงใจต่าง ๆ ที่ใช้มาหลายปีไม่สามารถแก้วิกฤตอัตราการเกิดต่ำได้
แต่สำหรับพัค ยอน หญิงสาววัย 28 ปี ที่เป็นทั้งอินฟลูเอนเซอร์ด้านแฟชั่นในอินสตาแกรมและนักร้องหน้าใหม่ เธอเลือกใช้เงินไปกับเสื้อผ้าและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่งผลให้แทบไม่มีเงินเหลือสำหรับการแต่งงานและมีลูก
"ฉันยึดหลัก 'YOLO' (ชีวิตเรา ใช้ซะ!)" พัคกล่าวขณะที่เธอกำลังขายเสื้อยืดแบรนด์ Supreme ของเธอในงานตลาดนัดแฟชั่นมือสองที่ย่านซองซู แหล่งรวมไฮแฟชั่นในกรุงโซล
"หลังจากที่ฉันให้รางวัลกับตัวเองแล้ว เงินแต่ละเดือนแทบไม่เหลือเก็บเลยค่ะ ส่วนเรื่องแต่งงานก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต ตอนนี้ขอมีความสุขกับปัจจุบันก่อนดีกว่าค่ะ จริงมั้ย"
ทั้งนี้ เกาหลีใต้ยังคงทำลายสถิติของตนเองในการมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก โดยปีที่แล้วตัวเลขได้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
นักสังคมวิทยาระบุว่า คนเกาหลีรุ่นใหม่ที่อยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี ซึ่งถือเป็นคน Gen Y และ Gen Z นั้น มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินมากกว่าและออมเงินน้อยกว่าคนรุ่นอื่น ๆ หรือคนรุ่นเดียวกันในประเทศอื่น ซึ่งไม่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวเลย
"คนรุ่นใหม่กำลังไล่ล่าหาสถานะทางสังคม พฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวมุ่งสร้างภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จของตนในโลกออนไลน์ มากกว่าการตั้งเป้าหมายที่เกินเอื้อมอย่างการสร้างครอบครัวและมีลูก" จอง แจ-ฮุน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยสตรีโซล กล่าว
แม้แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างก้าวกระโดดของเกาหลีใต้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถสกัดกั้นการใช้จ่ายของคนหนุ่มสาวได้ โดยข้อมูลจากธนาคารกลาง (BOK) แสดงให้เห็นว่า อัตราการออมของคนในวัย 30 ปีลดลงเหลือ 28.5% ในไตรมาสแรก จาก 29.4% เมื่อ 5 ปีก่อน ในขณะที่อัตราการออมของกลุ่มอายุอื่น ๆ กลับเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ขณะเดียวกัน คนวัย 20-30 ปี กลายเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายมากที่สุดในห้างสรรพสินค้าและโรงแรมหรู โดยค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของพวกเขาเพิ่มขึ้นจาก 33.3% เป็น 40.1% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากบริษัทฮุนไดการ์ด (Hyundai Card) แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนการใช้จ่ายของคนวัย 20 ปีในห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 12% ในช่วง 3 ปีจนถึงเดือนพ.ค. ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มอายุอื่น ๆ ทั้งหมดกลับลดลง
บริษัทวิจัยตลาดยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor) รายงานว่า เฉพาะปีที่แล้ว รายได้ของร้านอาหารบุฟเฟต์ราคาแพงพุ่งสูงขึ้นถึง 30.3% ในขณะที่ร้านอาหารจานด่วนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 10.5% และธุรกิจร้านอาหารโดยรวมเติบโตเพียง 9%
ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมโซลดราก้อนซิตี้ ซึ่งเป็นจุดถ่ายภาพลงอินสตาแกรมยอดนิยม มียอดขายบุฟเฟต์ขนมหวานสตรอว์เบอร์รีตามฤดูกาล ราคา 90,000 วอน (ประมาณ 2,300 บาท) เพิ่มขึ้น 150% เมื่อเทียบกับฤดูหนาวที่แล้ว ทั้งที่โรงแรมได้ปรับราคาเพิ่มขึ้น 12.5%
ผลการวิจัยของมอร์แกน สแตนลีย์ เมื่อปีที่แล้วชี้ว่า รสนิยมหรูหราของชาวเกาหลีทำให้พวกเขากลายเป็นผู้บริโภคที่ใช้จ่ายเงินกับสินค้าแบรนด์หรูมากที่สุดในโลกเมื่อคิดเฉลี่ยต่อหัว ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นตลาดเป้าหมายที่น่าดึงดูดสำหรับแบรนด์สินค้าหรูชั้นนำ แบรนด์ดังอย่าง ชาแนล เซลีน และดิออร์ ต่างก็เซ็นสัญญากับวงเคป็อปที่มีกลุ่มแฟนคลับวัยรุ่นอย่างแบล็กพิงก์และนิวจีนส์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของบริษัทวิจัย PMI Co. เมื่อเดือนพ.ค.ชี้ชัดว่า ปัญหาทางการเงินยังคงเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้เลือกที่จะไม่มีลูก โดยประมาณ 46% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,800 คน ระบุว่าความไม่มั่นคงในอาชีพการงานหรือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเช่นนั้น
สถานการณ์นี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี ที่ระบุว่าในปีที่ผ่านมา รายได้ต่อปีของคนในวัย 20-30 ปี เพิ่มขึ้นเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือนโดยรวมที่ 4.5% อย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์จองเสริมว่า การที่คนหนุ่มสาวให้ความสำคัญกับความสุขเฉพาะหน้ามากขึ้น ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่ตอบสนองต่อนโยบายกระตุ้นการมีบุตรของรัฐบาลที่เน้นการให้เงินอุดหนุน
เมื่อเดือนพ.ค. รัฐบาลของประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้ประกาศแผนจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อมุ่งแก้ปัญหาประชากร หลังจากที่มาตรการนโยบายต่าง ๆ ที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวในการพลิกฟื้นอัตราการเกิดที่ดิ่งลง ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินอุดหนุนสำหรับการแก้หมันชาย (vasectomy reversal) เงินช่วยเหลือครอบครัวที่มีทารกแรกเกิด บริการแท็กซีฟรี และการขยายระยะเวลาลาเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง
จากผลสำรวจ 17 ประเทศที่พัฒนาแล้วโดยศูนย์วิจัยพิวของสหรัฐฯ ในปี 2564 โดยถามว่าอะไรทำให้ชีวิตมีความหมาย ผลปรากฏว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวที่ผู้คนตอบว่า ความเป็นอยู่ที่ดีทางวัตถุสำคัญที่สุด ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ตอบว่าครอบครัวหรือสุขภาพสำคัญที่สุด
สำหรับพัค การมีลูกเป็นเพียงทางเลือกเสริมที่เธออาจพิจารณา หากอาชีพนักร้องของเธอประสบความสำเร็จ
"ถ้าสิ่งที่ฉันทำอยู่ตอนนี้มันปัง เรื่องเงินเก็บ การแต่งงาน และอื่น ๆ ก็จะตามมาเอง ตอนนี้ขอโฟกัสกับการใช้ชีวิตให้มีความสุขและทำงานที่ใฝ่ฝันก่อนค่ะ" เธอกล่าว