องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (5 ก.ย.) ว่า มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในยุโรปและจีนลดลงเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ลดลง
ข้อมูลในปี 2566 แสดงให้เห็นว่า "PM2.5 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอ้างอิงในปี 2546-2566 ในจีนและยุโรป" ลอเรนโซ ลาบราดอร์ นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าว
สำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) รายงานว่า WMO ได้เน้นย้ำในรายงานประจำปีที่เผยแพร่ก่อนถึงวันสากลอากาศสะอาดเพื่อท้องฟ้าสดใส (International Day of Clean Air for Blue Skies) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 กันยายนของทุกปีว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคุณภาพอากาศมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด
"ไม่สามารถแยกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคุณภาพอากาศออกจากกันได้ ทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันและต้องจัดการควบคู่กันไป" โค บาร์เรตต์ เลขาธิการ WMO ระบุในแถลงการณ์
"วงจรร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไฟป่า และมลพิษทางอากาศ กำลังส่งผลกระทบเป็นวัฏจักรต่อสุขภาพของมนุษย์ ระบบนิเวศ และเกษตรกรรม" แถลงการณ์ระบุเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกว่า PM2.5 ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างรุนแรงหากสูดดมเป็นเวลานาน เนื่องจากขนาดที่เล็กมากทำให้ฝุ่นผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ อนุภาคเหล่านี้มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การคมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรม นอกเหนือไปจากไฟป่าและฝุ่นทะเลทรายที่พัดมาจากลม
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ประชาชน 9 ใน 10 คนหายใจเอาอากาศที่มีมลพิษสูงเข้าสู่ร่างกาย