ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในเมียนมาจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิเพิ่มขึ้นทะลุ 200 รายแล้ว ขณะที่สหประชาชาติ (UN) เตือนว่าอาจมีผู้ประสบภัยมากถึง 630,000 รายที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ
สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลทหารเมียนมายืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ 226 ราย เมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ (16 ก.ย.) เพิ่มขึ้นสองเท่าจากรายงานก่อนหน้านี้ที่ 113 ราย นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้สูญหายอีก 77 ราย ขณะที่นาข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ เกือบ 260,000 เฮกตาร์ (640,000 เอเคอร์) ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) เปิดเผยว่า ประชาชนราว 631,000 คนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และทางการเมียนมาต้องการอาหาร น้ำดื่ม ที่พักพิง และเสื้อผ้าอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งเตือนว่าสายสื่อสารที่ถูกตัดขาด ถนนที่ถูกปิด และสะพานที่ชำรุด ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามในการบรรเทาทุกข์
ทางหน่วยงานระบุว่า การสื่อสารที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นไปอย่างล่าช้า
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และจนถึงขณะนี้ มีประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียเพียงประเทศเดียวที่ตอบรับคำร้องขอ โดยส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้เมียนมารวม 10 ตัน ซึ่งรวมถึงอาหารแห้ง เสื้อผ้า และยารักษาโรค
สำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) รายงานว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาปิดกั้นหรือขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศ รวมถึงเมื่อครั้งที่ไซโคลนโมคาพัดถล่มเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว แต่รัฐบาลกลับระงับใบอนุญาตเดินทางของเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ที่พยายามเข้าถึงผู้ประสบภัยถึงราวหนึ่งล้านคนในเมียนมา
โครงการอาหารโลก (WFP) ของสหประชาชาติ ระบุว่า อุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในเมียนมาในรอบหลายปี โดยก่อนหน้านี้ เมียนมาเผชิญน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และ 2558 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 100 รายในแต่ละครั้ง ขณะที่พายุไซโคลนนาร์กีสเมื่อปี 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายมากกว่า 138,000 ราย
ทั้งนี้ พายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มภาคเหนือของเวียดนาม ลาว ไทย และเมียนมา เมื่อกว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อน ทำให้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก ตามมาด้วยน้ำท่วมและดินถล่ม ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนรวมกว่า 500 ราย ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของแต่ละประเทศ