ศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy - ACE) คาดการณ์ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคของภูมิภาคในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ
ACE เผยว่า ภายในสิ้นปีหน้า พลังงานสะอาดจะมีสัดส่วนเพียง 19% ของพลังงานทั้งหมดในภูมิภาค เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ 23% ของอาเซียน นอกจากนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอาจเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้นภายในปี 2570 อีกด้วย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ซุลฟิการ์ ยุร์ไนดี หัวหน้าฝ่ายการสร้างแบบจำลองพลังงานและการวางแผนนโยบายของศูนย์พลังงานอาเซียน กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นผู้ใช้พลังงานหลัก อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานไฟฟ้าในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าอย่างกัมพูชา ก็มีส่วนทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายในปี 2593
รายงานของ ACE ระบุว่า ภายในปี 2568 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะบรรลุเป้าหมายการติดตั้งระบบการผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการกักเก็บพลังงาน จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะจ่ายพลังงานให้กับโครงข่ายไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ศูนย์พลังงานอาเซียนเสนอแนะว่า เพื่อลดการปล่อยมลพิษและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศหลายนโยบายในคราวเดียว ซึ่งได้แก่ การปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัย การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การดักจับคาร์บอน ตลอดจนปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ด้านนักวิจารณ์มองว่า อาเซียนไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากสหภาพยุโรป (EU) อีกทั้งการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ จะต้องได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิก ทำให้อาเซียนไม่สามารถดำเนินการสอดประสานกันในประเด็นเร่งด่วนและซับซ้อน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ