นายกเทศมนตรีเขตชิบูยาและเขตชินจูกุของกรุงโตเกียวแถลงข่าวร่วมกันในวันนี้ (7 ต.ค.) ว่าจะร่วมมือกันเพื่อควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์บนท้องถนนและลดเสียงดังเอะอะโวยวายในช่วงเทศกาลฮาโลวีนปีนี้ ท่ามกลางจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
"การดื่มแอลกอฮอล์บนท้องถนนสร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงดังรบกวน และการทิ้งขยะไม่เป็นที่" เคน ฮาเซเบะ นายกเทศมนตรีเขตชิบูยะ แถลงต่อสื่อมวลชน ขณะที่เคนอิจิ โยชิซูมิ นายกเทศมนตรีเขตชินจูกุ กล่าวว่า "อุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นเมื่อผู้คนมารวมตัวกันบนถนนและดื่มสุรา"
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เขตชิบูยาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ต.ค. แต่ฮาเซเบะกล่าวว่า เขาตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับเขตชินจูกุ เนื่องจากมาตรการห้ามปรามที่เขตชิบูยาบังคับใช้เมื่อปีที่แล้วนั้นส่งผลกระทบต่อเขตชินจูกุที่อยู่ใกล้เคียง
ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนปีที่แล้ว เขตชิบูยาได้ขอความร่วมมือประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเฉลิมฉลองที่ชิบูยาเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความแออัดยัดเยียด ซึ่งผลปรากฏว่าจำนวนผู้เดินทางมายังสถานีชิบูยาและพื้นที่โดยรอบอยู่ที่ประมาณ 15,000 ราย ลดลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกที่ 60,000 ราย
สำหรับเขตชินจูกุ พบว่าในช่วงเวลาเดียวกันมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่คับแคบของย่านคาบุกิโจ ซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงและย่านโคมแดง ส่งผลให้เกิดการรวมของฝูงชนที่สร้างความวุ่นวายอย่างมาก
รายงานระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เขตชิบูยามีกฎห้ามดื่มแอลกอฮอล์บนถนนบางสายตามช่วงเวลาที่กำหนด เช่น เทศกาลฮาโลวีนและวันหยุดปีใหม่ แต่กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนนี้ ได้ขยายการห้ามดื่มแอลกอฮอล์เป็นตลอดทั้งปี และครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น เพื่อลดการทิ้งขยะและเสียงดังรบกวนจากฝูงชน
มาตรการการห้ามดื่มแอลกอฮอล์มีผลบังคับใช้ทุกวันตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 05.00 น.ของวันถัดไป ในพื้นที่รอบ ๆ สถานีรถไฟชิบูยา ส่วนการห้ามดื่มสุราในเขตชินจูกุจะมีผล 12 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค.
อย่างไรก็ดี ทั้งสองมาตรการไม่มีบทลงโทษ
เทศบาลทั้งสองเขตยังเปิดเผยด้วยว่า ทางเขตจะเรียกร้องให้รัฐบาลกลางและกรุงโตเกียวบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่น การบังคับใช้กฎหมายห้ามดื่มสุราบนถนน โดยฮาเซเบะเสริมว่า กฎหมายเช่นนี้เป็นเรื่องปกติในต่างประเทศแล้ว
จำนวนฝูงชนที่แออัดและพฤติกรรมเอะอะโวยวายกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่มีการยกเลิกข้อจำกัดที่บังคับใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คนจากเหตุเบียดเสียดกันของฝูงชนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 ในย่านสถานบันเทิงชื่อดังอิแทวอนของเกาหลีใต้ หลังจากที่มีผู้คนจำนวนมากกว่าแสนคนมารวมตัวกันเพื่อฉลองเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกหลังการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 ในประเทศ