จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวในการชี้แจงนโยบายครั้งที่ 3 ว่า ฮ่องกงจะดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะจากอาเซียนและประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ให้มาศึกษาในฮ่องกง
การสร้างแบรนด์ "ศึกษาต่อในฮ่องกง" (Study in Hong Kong) ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการพัฒนาฮ่องกงให้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับหลังมัธยมศึกษาในระดับนานาชาติ โดยฮ่องกงจะดึงดูดนักศึกษาต่างชาติให้มาศึกษาในฮ่องกงมากขึ้นผ่านการให้ทุนการศึกษาและสิ่งจูงใจอื่น ๆ
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมุ่งจัดการประชุมและนิทรรศการการศึกษานานาชาติ และสนับสนุนสถาบันระดับหลังมัธยมศึกษาในฮ่องกงให้เสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับสถาบันทั่วโลก
ลีกล่าวว่า รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้นำระบบการรับสมัครผู้มีความสามารถใหม่มาใช้ในช่วงปลายปี 2565 โดยจนถึงปัจจุบันมีผู้ส่งใบสมัครมากกว่า 380,000 ใบ และมีผู้มีความสามารถราว 160,000 คนเดินทางมาถึงฮ่องกงพร้อมครอบครัว
รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะปฏิรูปด้านต่าง ๆ ของระบบการรับบุคลากรที่มีความสามารถ รวมถึงเพิ่มรายชื่อมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ "Top Talent Pass" เป็น 198 มหาวิทยาลัย โดยเพิ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนแผ่นดินใหญ่และต่างประเทศ 13 แห่ง และขยายระยะเวลาวีซ่าของบุคลากรที่มีรายได้สูงภายใต้โครงการนี้จาก 2 ปีเป็น 3 ปี
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มาตรการอื่น ๆ ได้แก่ การปรับปรุงนโยบายการจ้างงานทั่วไปและโครงการรับสมัครผู้มีความสามารถและผู้เชี่ยวชาญในจีนแผ่นดินใหญ่ การเปิดช่องทางใหม่ในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานให้เดินทางมายังฮ่องกง
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังจะเปิดตัวกลไกใหม่ภายใต้ "โครงการรับผู้อพยพที่มีคุณภาพ" (Quality Migrant Admission Scheme) เพื่อเชิญชวนบุคลากรที่มีความสามารถสูงให้มาพัฒนาศักยภาพที่ฮ่องกงอย่างจริงจังด้วย