คิวบาเผชิญวิกฤตไฟดับทั่วประเทศเป็นรอบที่ 4 ในเวลาเพียง 2 วัน เมื่อวันอาทิตย์ (20 ต.ค.) และสถานการณ์เลวร้ายลงอีกเมื่อพายุเฮอร์ริเคนออสการ์ (Oscar) พัดถล่มเกาะ สร้างความยากลำบากให้กับชาวคิวบาที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ทางการคิวบาแถลงความคืบหน้าในการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ประชาชนหลายล้านคนก็ยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้มานานกว่า 2 วัน นับตั้งแต่เกิดไฟดับครั้งแรก
กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของคิวบาประกาศผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ว่า "งานซ่อมแซมได้เริ่มขึ้นทันที"
ขณะเดียวกัน พายุเฮอร์ริเคนออสการ์ได้พัดถล่มเกาะคิวบาในทะเลแคริบเบียนเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งก่อให้เกิดลมกระโชกแรง คลื่นซัดฝั่ง และฝนตกหนักในบางพื้นที่ทางตะวันออกของคิวบา ยิ่งทำให้การกู้คืนระบบไฟฟ้าเป็นไปอย่างยากลำบาก
กรมอุตุนิยมวิทยาคิวบาเตือนว่าสถานการณ์ในคิวบาตะวันออก "อันตรายถึงขีดสุด" ขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังพายุเฮอร์ริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ รายงานว่าพายุดังกล่าวพัดกระหน่ำเกาะด้วยความเร็วลม 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ศูนย์เฝ้าระวังพายุคาดการณ์ว่า "ตามเส้นทางที่พยากรณ์ไว้ ศูนย์กลางพายุออสการ์จะเคลื่อนตัวผ่านคิวบาตะวันออกในคืนวันอาทิตย์และวันจันทร์ จากนั้นจะเคลื่อนออกสู่ทะเลทางตอนเหนือของคิวบาช่วงดึกวันจันทร์ และพัดผ่านหมู่เกาะบาฮามาสตอนกลางในวันอังคาร"
รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาประกาศปิดโรงเรียนจนถึงวันพุธ (23 ต.ค.) ซึ่งเป็นมาตรการที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยให้เหตุผลเรื่องพายุเฮอร์ริเคนและวิกฤตพลังงาน ส่วนในวันจันทร์ (21 ต.ค.) อนุญาตเฉพาะบุคลากรจำเป็นเท่านั้นที่ต้องไปทำงาน
เหตุการณ์ไฟดับทั่วประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่านับเป็นความล้มเหลวครั้งสำคัญของรัฐบาลคิวบาในการเร่งฟื้นฟูระบบจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากอย่างหนักจากวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ยา และเชื้อเพลิง
ความล้มเหลวในการกู้ระบบไฟฟ้าภายใน 2 วันแรก แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากและความเปราะบางของระบบไฟฟ้าของประเทศ
วิเซนเต เดอ ลา โอ เลวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ได้แถลงข่าวในเช้าวันอาทิตย์ โดยคาดว่าระบบไฟฟ้าจะกลับมาใช้งานได้เต็มที่ภายในวันจันทร์หรือวันอังคาร (21 หรือ 22 ต.ค.) แต่ก็เตือนประชาชนว่าสถานการณ์อาจยังไม่ดีขึ้นในทันที
อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าปัญหาล่าสุดจะทำให้แผนฟื้นฟูระบบไฟฟ้าล่าช้าออกไปอีกนานแค่ไหน
ระบบไฟฟ้าของคิวบาเริ่มล่มเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงเที่ยงของวันศุกร์ (18 ต.ค.) หลังโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศหยุดดำเนินการ สื่อของรัฐบาลรายงานเพิ่มเติมว่า ระบบไฟฟ้าล่มอีกครั้งในเช้าวันเสาร์ (19 ต.ค.) แม้ช่วงหัวค่ำจะมีรายงานความคืบหน้าในการซ่อมแซม แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทางการก็ประกาศว่าไฟดับเป็นบางพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พบเห็นการชุมนุมประท้วงขนาดเล็กสองแห่งในคืนวันเสาร์ โดยจุดแรกเกิดขึ้นในย่านมาเรียนาโอ และอีกจุดหนึ่งในเขตกัวโตรกามิโนสของกรุงฮาวานา นอกจากนี้ ยังมีวิดีโอคลิปที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นการชุมนุมประท้วงในพื้นที่อื่น ๆ ของเมืองหลวงเมื่อคืนวันเสาร์ อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของคลิปวิดีโอเหล่านั้นได้
รัฐมนตรีพลังงานยอมรับว่าปัญหาไฟดับสร้างความลำบากให้กับประชาชน แต่เขาเชื่อว่าคนคิวบาส่วนใหญ่เข้าใจและพร้อมให้กำลังใจรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา
"วัฒนธรรมคนคิวบาเรามีน้ำใจช่วยเหลือกันอยู่แล้ว ส่วนเหตุการณ์ประท้วงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นบ้าง เราถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควร" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์
เน็ตบล็อกส์ (NetBlocks) องค์กรเฝ้าระวังการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก รายงานว่าปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตในคิวบาลดลงอย่างมากตลอดช่วงสุดสัปดาห์ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
รัฐบาลคิวบากล่าวโทษว่า สาเหตุของปัญหาไฟฟ้าดับที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งบางพื้นที่ต้องเผชิญไฟดับยาวนานถึง 10-20 ชม.ต่อวันนั้น เกิดจากสาธารณูปโภคที่ทรุดโทรม การขาดแคลนเชื้อเพลิง และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลคิวบายังกล่าวโทษมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงมาตรการลงโทษที่ริเริ่มโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คิวบาประสบปัญหาในการจัดหาเชื้อเพลิงและอะไหล่สำหรับการดำเนินงานและการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมันอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในคิวบา
ทั้งนี้ คิวบาต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้น้ำมัน แต่ปีนี้การนำเข้าลดลงอย่างมาก เนื่องจากประเทศที่เคยเป็นแหล่งจัดหาสำคัญอย่างเวเนซุเอลา รัสเซีย และเม็กซิโก ต่างพากันลดการส่งออกเชื้อเพลิงมายังคิวบาลงอย่างมีนัยสำคัญ
เวเนซุเอลา ซึ่งกำลังประสบความยากลำบากในการจัดหาน้ำมันป้อนตลาดในประเทศตัวเอง ได้ลดการส่งน้ำมันราคาถูกให้คิวบาลงครึ่งหนึ่งในปีนี้ ทำให้คิวบาต้องดิ้นรนหาซื้อน้ำมันราคาแพงจากตลาดสปอต (spot market)
เม็กซิโก ซึ่งเป็นอีกแหล่งจัดส่งเชื้อเพลิงประจำของคิวบา ก็ลดการจัดส่งเชื้อเพลิงให้คิวบาในปีนี้ โดยคลอเดีย เชนบาม ปธน.คนใหม่ของเม็กซิโก ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงว่ารัฐบาลจะยังคงสนับสนุนการจัดส่งเชื้อเพลิงให้คิวบาภายใต้เงื่อนไขเดิมหรือไม่