นักวิทย์เตือนกลุ่มประเทศนอร์ดิกระวังกระแสน้ำแอตแลนติกล่มสลายทำอากาศแปรปรวน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 22, 2024 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศกว่า 40 คน วิงวอนให้รัฐมนตรีกลุ่มประเทศนอร์ดิกเร่งหาทางป้องกันไม่ให้ภาวะโลกร้อนไปกระทบกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก เพราะอาจทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลันและทำลายระบบนิเวศ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) ว่า หากการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก (AMOC) ล่มสลาย (ระบบกระแสน้ำที่คอยพาน้ำอุ่นเข้าสู่แอตแลนติกเหนือและทำให้ยุโรปมีอากาศไม่หนาวจัด) อาจส่งผลร้ายต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในแถบอาร์กติกและพื้นที่อื่น ๆ ตามข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้

"การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรครั้งนี้จะสร้างความเสียหายรุนแรงและไม่อาจแก้ไขได้ โดยเฉพาะต่อประเทศในแถบนอร์ดิก รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก" นักวิทยาศาสตร์ระบุในจดหมายที่ส่งถึงคณะมนตรีนอร์ดิกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 ต.ค.) โดยคณะมนตรีนี้ประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์กและสวีเดน และอีก 3 ดินแดนปกครองตนเอง

จดหมายฉบับดังกล่าวกระตุ้นให้คณะมนตรีลงมือทำอะไรสักอย่าง รวมถึงการเรียกร้องให้ทั่วโลกช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ผลการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่าที่ผ่านมา เราประเมินความเสี่ยงที่กระแสน้ำในแอตแลนติกจะเปลี่ยนแปลงต่ำเกินไปมาก พร้อมเสริมว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเลยจุดที่ไม่อาจย้อนกลับได้ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

"ลองคิดดูว่าถ้าอังกฤษและไอร์แลนด์มีอากาศหนาวเหน็บเหมือนนอร์เวย์ตอนเหนือ ผลกระทบจะรุนแรงขนาดไหน และจากการศึกษาของเรา นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก และนี่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะปรับตัวรับมือกันได้ง่าย ๆ ด้วย" ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ดิตเลฟเซนจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน หนึ่งในผู้ลงนามในจดหมายกล่าว

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักรระบุว่า หากระบบกระแสน้ำในมหาสมุทรล่มสลาย จะส่งผลให้ซีกโลกเหนือหนาวเย็นลงอย่างรุนแรง ระดับน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกสูงขึ้น ฝนตกน้อยลงในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมทั้งทำให้ฤดูมรสุมในอเมริกาใต้และแอฟริกาเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ทั่วโลกทุ่มเม็ดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ด้านศาสตราจารย์สเตฟาน ราห์มสตอร์ฟจากสถาบันวิจัยผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศพ็อทซ์ดัมของเยอรมนีวิจารณ์ว่า การที่รัฐบาลทั่วโลกยังคงอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล สะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีใครจริงจังกับการป้องกันหายนะจากวิกฤตสภาพอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ