บรรดานักวิทยาศาสตร์เปิดเผยในวันนี้ (13 พ.ย.) ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น จ่อแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ซึ่งทำให้โลกห่างไกลมากขึ้นจากการหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพอากาศสุดขั้ว
รายงานงบประมาณคาร์บอนทั่วโลก (Global Carbon Budget) ซึ่งเผยแพร่ออกมาระหว่างการประชุมสภาพอากาศ COP29 ของสหประชาชาติ (UN) ในอาเซอร์ไบจานระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นถึง 4.16 หมื่นล้านตันในปี 2567 จาก 4.06 หมื่นล้านตันเมื่อปีที่แล้ว
รายงานชี้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณมหาศาลมาจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ จะอยู่ที่ 3.74 หมื่นล้านตันในปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.8% จากปี 2566 ขณะที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนที่เหลือมาจากการใช้ที่ดิน ซึ่งรวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่า
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวจัดทำโดยสถาบันต่าง ๆ กว่า 80 แห่งที่นำโดยมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) ในอังกฤษ
ปิแอร์ ฟรีดลิงสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า "เราไม่เห็นสัญญาณว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะแตะระดับสูงสุดในปี 2567 หากไม่มีการปรับลดการปล่อยมลพิษลงอย่างรวดเร็วและในทันทีทั่วโลก อุณหภูมิจะพุ่งขึ้นสู่กรอบเป้าหมายที่ 1.5 องศาเซลเซียส และจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นานาประเทศเห็นพ้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2558 ซึ่งว่าด้วยความพยายามในการลดอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากทุกปี ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2573 และหลังจากนั้น