ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเดอะแลนเซต (The Lancet) พบว่า ผู้ใหญ่ทั่วโลกมากกว่า 800 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งสูงเกือบ 2 เท่าจากตัวเลขประมาณการก่อนหน้านี้ และมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 30 ปีนั้นไม่ได้เข้ารับการรักษา
รายงานระบุว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยเบาหวานอายุ 18 ปีขึ้นไปประมาณ 828 ล้านคน ซึ่งรวมผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ทั่วโลก โดยในกลุ่มป่วยที่มีอายุมากกว่า 30 ปีราว 445 ล้านคน หรือประมาณ 59% นั้นไม่ได้รับการรักษา
องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยประมาณการณ์ก่อนหน้านี้ว่า มีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 422 ล้านคน โดยโรคเบาหวานนั้นเป็นภาวะเรื้อรังเกี่ยวข้องกับระบบเมตาบอลิซึม ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือด เส้นประสาท และอวัยวะอื่น ๆ
ผลการศึกษาพบว่า อัตราผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเพิ่มจากราว 7% เป็น 14% โดยสาเหตุหลักมาจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
อย่างไรก็ดี แม้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราการเข้ารับการรักษาในประเทศเหล่านี้ยังคงต่ำ ในขณะที่บางประเทศที่มีรายได้สูง มีการพัฒนาในการดูแลรักษา ทำให้ช่องว่างในการรักษากว้างขึ้น
ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของ NCD Risk Factor Collaboration และ WHO ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ระดับโลกครั้งแรกที่รวบรวมข้อมูลทั้งอัตราการเกิดโรคและการรักษาครอบคลุมทุกประเทศ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยมากกว่า 1,000 ฉบับที่ครอบคลุมผู้คนจำนวนมากกว่า 140 ล้านคน