แม้มีการเจรจาภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ (UN) ในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นเวลาถึง 2 สัปดาห์ แต่ 197 ประเทศที่เข้าร่วมก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในวันนี้ (14 ธ.ค.) เกี่ยวกับแผนการจัดการปัญหาภัยแล้งทั่วโลก ซึ่งยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น
สำนักข่าวเอพี (AP) รายงานว่า การประชุมสองปีครั้งหนึ่งซึ่งรู้จักกันในชื่อ COP16 และจัดขึ้นโดยองค์กรของ UN ที่ทำงานเกี่ยวกับการต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและภัยแล้งนั้น ได้พยายามสร้างมติระดับโลกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อบังคับให้ประเทศต่าง ๆ จัดหาเงินทุนสำหรับระบบเตือนภัยล่วงหน้า และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในประเทศยากจน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างรุนแรงที่สุด
อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) ได้เผยแพร่รายงานเมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดยเตือนว่า หากแนวโน้มภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป ประชากรเกือบ 5 พันล้านคน ซึ่งรวมถึงในยุโรปส่วนใหญ่, บางพื้นที่ทางตะวันตกของสหรัฐฯ, บราซิล, เอเชียตะวันออก และแอฟริกากลาง จะได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งของที่ดินบนโลกภายในสิ้นศตวรรษนี้ เพิ่มขึ้นจากประชากรโลกเพียง 25% ในปัจจุบัน
รายงานยังระบุด้วยว่า ภาคการเกษตรตกจะเผชิญความเสี่ยงเป็นพิเศษ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารสำหรับชุมชนทั่วโลก
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่การเจรจาดังกล่าวของ UN ประสบความล้มเหลวในการบรรลุฉันทามติหรือให้ผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังในปีนี้ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เปราะบางที่สุด
ขณะที่ UN มุ่งหวังให้ประเทศต่างๆ เห็นพ้องต้องกันในการเร่งแก้ไขปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลพิษจากพลาสติก
ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการเจรจาที่ริยาดได้ตัดสินใจที่จะเลื่อนการทำข้อตกลงไปจนถึงการเจรจาครั้งถัดไปในปี 2569 ซึ่งจะจัดขึ้นโดยประเทศมองโกเลีย