บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (Suzuki Motor Corp.) แถลงวันนี้ (27 ธ.ค.) ว่า โอซามุ ซูซูกิ อดีตประธานบริษัทผู้มากบารมี ผู้พลิกโฉมบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ขนาดเล็กของญี่ปุ่นให้กลายเป็นผู้เล่นระดับโลกและครองตลาดรถยนต์ในประเทศอินเดีย ได้ถึงแก่กรรมแล้วด้วยวัย 94 ปี
ซูซูกิลาออกจากคณะกรรมการบริหารในเดือนมิ.ย. ปี 2564 ขณะอายุ 91 ปี ก่อนหน้านั้น เขาได้นำทัพซูซูกิ มอเตอร์ มายาวนานกว่า 40 ปี ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ โดยผลัดเปลี่ยนบทบาทระหว่างประธานบริษัท ประธานกรรมการ และซีอีโอมาตั้งแต่ปี 2521
ทางบริษัทฯ แถลงว่า ซูซูกิถึงแก่กรรมเมื่อช่วงบ่ายของวันพุธ (25 ธ.ค.) ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ภายใต้การนำของซูซูกิ บริษัทฯ มียอดขายรวมเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก 3 แสนล้านเยน (1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2521 ซึ่งเป็นปีที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทเป็นครั้งแรก จนทะลุหลัก 3 ล้านล้านเยน เป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2549 ซึ่งคิดเป็นการเติบโตถึง 10 เท่า
ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ระบุว่า บริษัท มารูติ ซูซูกิ อินเดีย จำกัด (Maruti Suzuki India Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในอินเดียสูงถึง 41.7% ในปีงบประมาณ 2566 ทิ้งห่างคู่แข่งสำคัญอย่างฮุนได มอเตอร์ (Hyundai Motor) จากเกาหลีใต้ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14.6%
โอซามุ ซูซูกิ เกิดเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2473 ที่จังหวัดกิฟุ ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น เขาได้เข้าร่วมงานกับซูซูกิ มอเตอร์ ในปี 2501 หลังจากแต่งงานกับบุตรสาวของตระกูลผู้ก่อตั้งบริษัท และได้ใช้นามสกุล "ซูซูกิ" ตามภรรยา ซึ่งเป็นบุตรสาวของชุนโซ ซูซูกิ ประธานบริษัทในขณะนั้น
หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานบริษัทในปี 2521 ซูซูกิก็มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปบริษัท ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจในนาม บริษัท ซูซูกิ ลูม แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (Suzuki Loom Manufacturing Co.) ในปี 2463 และยังคงมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองฮามามัตสึ ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น ให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศ
ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นต่างมุ่งขยายธุรกิจไปยังตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน แต่ซูซูกิกลับเลือกที่จะทุ่มทรัพยากรไปกับการผลิตยานยนต์ขนาดเล็กในประเทศญี่ปุ่น และรถยนต์นั่งขนาดเล็กในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศฮังการีในยุโรปกลาง
ซูซูกิ มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ด้วยเช่นกัน ได้ถอนตัวออกจากธุรกิจรถยนต์ในสหรัฐฯ และจีนในปี 2555 และ 2561 ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้น นิยมรถยนต์ขนาดใหญ่มากกว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กที่บริษัทฯ จำหน่าย
เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซูซูกิ มอเตอร์ จึงได้บรรลุข้อตกลงร่วมทุนและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับโฟล์คสวาเกน เอจี (Volkswagen AG) ในปี 2552
อย่างไรก็ตาม ซูซูกิ มอเตอร์ ได้ตัดสินใจยุติความร่วมมือดังกล่าวในปี 2558 หลังจากเกิดความขัดแย้งเรื่องการควบคุมการบริหารมาเป็นเวลาหลายปี ซูซูกิ มอเตอร์ ถึงกับยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ สังกัดหอการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขอซื้อหุ้นคืนทั้งหมดจากโฟล์คสวาเกน เอจี
ในท้ายที่สุด โอซามุ ซูซูกิ ได้ตัดสินใจนำพาบริษัทฯ เข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (Toyota Motor Corp.) ในปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันพัฒนารถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ รับมือกับการแข่งขันอันดุเดือดในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สู่ยุคของเทคโนโลยี CASE อันได้แก่ Connected (การเชื่อมต่อ), Autonomous (การขับขี่อัตโนมัติ), Shared (การแบ่งปันการใช้งาน) และ Electric (การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า)
ทั้งนี้ ซูซูกิก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริษัทในปี 2558 ขณะอายุได้ 85 ปี และส่งมอบตำแหน่งต่อให้กับโทชิฮิโระ ซูซูกิ บุตรชายของเขา