สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานความเคลื่อนไหวของการบังคับใช้กฏหมายสมรสเท่าเทียมของไทยในวันนี้ (23 ม.ค.) ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บุคคลทุกเพศมีสิทธิสมรสเท่าเทียมกัน โดยคู่รักที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปไม่ว่าเพศใดสามารถจดทะเบียนสมรสได้
กฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ในวันนี้ได้สร้างปรากฎการณ์แห่งความยินดีสำหรับคู่รักหลายร้อยคู่ที่มาจดทะเบียนสมรสในงานประวัติศาสตร์ที่ประดับด้วยธงสีรุ้ง ณ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนในเช้าวันนี้
ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ มาอย่างยาวนาน ด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ และมีกฎหมายคุ้มครองกลุ่ม LGBTQ ให้ปลอดภัยจากการเลือกปฏิบัติส่วนใหญ่มาตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ตาม บรรดานักเคลื่อนไหวต้องต่อสู้มาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษเพื่อให้ได้มาซึ่งการรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิในการรับมรดก การรับบุตรบุญธรรม และสิทธิอื่น ๆ
ทั้งนี้ ไทยเป็นดินแดนที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียต่อจากไต้หวันและเนปาลที่ให้สิทธิสมรสเท่าเทียม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่บางประเทศยังคงดำเนินคดีกับกลุ่มรักร่วมเพศ และชุมชน LGBTQ มักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ
อโกด้า (Agoda) ผู้ให้บริการสำรองห้องพักทางออนไลน์ เปิดเผยว่า การที่ไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นปัจจัยหนุน "การท่องเที่ยวสีรุ้ง" (Rainbow Tourism) ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์
อโกด้าระบุว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยสร้างงานเต็มเวลาราว 152,000 ตำแหน่ง และจะมีส่วนช่วยหนุนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในสัดส่วน 0.3%
นอกจากนี้ อโกด้าระบุว่า ไทยอยู่ในสถานะที่ดีในการคว้าส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดการท่องเที่ยว LGBTQ ระดับโลก ซึ่งตลาดนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี พร้อมกับเสริมว่า หลายจังหวัดของไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการแต่งงาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดงานแต่งงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การโรงแรมและการจัดเลี้ยง เป็นต้น ทิโมธี ฮิวจ์ รองประธานฝ่ายพัฒนาองค์กรของอโกด้า กล่าวว่า "ในขณะที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ อยู่แล้วนั้น เราคาดว่าการที่ไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะตัวเลือกการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดที่มีความครอบคลุมและไม่มีการแบ่งแยก"