กลุ่มร้านอาหารในมาเลเซียเรียกร้องรัฐบาลเปิดทางให้สามารถว่าจ้างผู้อพยพชาวโรฮิงญา (หรือโรฮีนจา) และผู้อพยพจากอินเดียได้ หลังจากคำสั่งห้ามว่าจ้างแรงงานต่างด้าวกลุ่มใหม่ส่งผลให้บรรดาธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถหาแรงงานมาเติมเต็มตำแหน่งงานที่ยังว่างอยู่ถึง 25,000 ตำแหน่ง ขณะที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่เกี่ยงงานเหล่านี้ เนื่องจากมองว่าได้ค่าจ้างต่ำ
หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์รายงานว่า เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่มาเลเซียต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเมียนมา เพื่อทำงานในฟาร์ม โรงงาน ไซต์ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบริการ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเม.ย.ของปีที่แล้ว รัฐบาลออกมาตรการห้ามไม่ให้ธุรกิจต่าง ๆ ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวกลุ่มใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ และสร้างงานให้กับคนมาเลเซียมากขึ้น
คำสั่งห้ามดังกล่าวมีขึ้นภายหลังเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน และปัญหาแรงงานขัดหนี้ (debt bondage) ในกลุ่มแรงงานชาวบังกลาเทศ
ข้อมูลเผยว่า ณ สิ้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา มาเลเซียมีแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานเป็นจำนวน 2.47 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 15% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเพดานสูงสุดที่รัฐบาลกำหนด ทั้งนี้ มาเลเซียกำหนดไว้ว่าสัดส่วนแรงงานต่างชาติจะต้องมีจำนวนไม่เกิน 15% ของกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศ
ทั้งนี้ การแบนแรงงานต่างด้าวกลุ่มใหม่ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากในภาคบริการธุรกิจอาหาร แม้ว่าจำนวนผู้ว่างงานจะยังคงค่อนข้างสูงอยู่ก็ตาม โดยจำนวนผู้ว่างงานในมาเลเซียอยู่ที่ 546,000 คนในเดือนพ.ย. ลดลงเล็กน้อยจาก 551,400 คนในเดือนต.ค.