อิบราฮิม อัฟยอน ประธานสหภาพผู้ผลิตไข่ไก่ของตุรกี เปิดเผยเมื่อวันพุธ (19 ก.พ.) ว่า ตุรกีเริ่มส่งออกไข่ไก่ประมาณ 15,000 ตันไปยังสหรัฐฯ แล้ว หลังการระบาดรุนแรงของไข้หวัดนกส่งผลให้การผลิตในสหรัฐฯ ลดลงและราคาพุ่งสูงขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การตายของแม่ไก่นับล้านตัวกำลังบั่นทอนคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะช่วยลดค่าครองชีพ ขณะที่ร้านค้าปลีกต้องจำกัดปริมาณการขายไข่ไก่ และร้านอาหารต้องขึ้นราคาเมนูที่ใช้ไข่เป็นวัตถุดิบ
ประธานสหภาพผู้ผลิตไข่ไก่กลางของตุรกีระบุว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ เริ่มต้นในเดือนนี้และจะดำเนินต่อไปจนถึงเดือนก.ค.
"การส่งออกจะดำเนินการผ่านบริษัทสมาชิกที่ได้รับอนุญาต โดยมีสองบริษัทเป็นผู้ประสานงานกระบวนการนี้" อัฟยอนกล่าว พร้อมระบุว่า "เราจะส่งไข่ไก่รวมทั้งสิ้น 15,000 ตัน หรือเทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์ 700 ตู้"
ทั้งนี้ ตุรกีจัดเป็นหนึ่งในสิบประเทศผู้ส่งออกไข่รายใหญ่ของโลก
สหรัฐฯ กำลังเร่งควบคุมการระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งตรวจพบการติดเชื้อครั้งแรกในวัวนมที่รัฐเท็กซัสเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ก่อนแพร่กระจายไปยังฝูงวัวกว่า 970 ฝูงใน 17 รัฐ อีกทั้งนับตั้งแต่เดือนเม.ย. มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกเกือบ 70 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนงานในฟาร์มที่สัมผัสกับสัตว์ปีกหรือวัวที่ติดเชื้อ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
ข้อมูลของทางการสหรัฐฯ ระบุว่า การระบาดในสัตว์ปีกที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2565 ได้คร่าชีวิตไก่ ไก่งวง และสัตว์ปีกอื่น ๆ ไปแล้วราว 162 ล้านตัว โดยการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังนี้ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนไข่ไก่