ผลการวิจัยล่าสุดเปิดเผยให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบ 2 เซนติเมตร นับตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้ เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์
ธารน้ำแข็งเป็นตัวชี้วัดที่ดีของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ซึ่งทำการวิจัยร่วมกับทีมวิจัย 35 ทีมในระดับนานาชาติแสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียน้ำแข็งไปรวมกันประมาณ 6.542 ล้านล้านตันระหว่างปี 2543 ถึง 2566 ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 18 มิลลิเมตร หรือ 1.8 เซนติเมตร
การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Glacier Mass Balance Intercomparison Exercise หรือ Glambie ซึ่งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการวัดภาคสนาม รวมถึงข้อมูลจากดาวเทียมที่ใช้แสง เรดาร์ และเลเซอร์
การประเมินนี้ไม่นับรวมแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ของทวีปแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ แต่สรุปว่า ตั้งแต่ต้นศตวรรษจนถึงขณะนี้ ธารน้ำแข็งในส่วนอื่น ๆ ของโลกได้สูญเสียปริมาตรไปประมาณ 5%
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียน้ำแข็งเฉลี่ย 2.73 แสนล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการบริโภคน้ำของประชากรโลกเป็นเวลา 30 ปี
การสูญเสียในระดับภูมิภาคนั้นแตกต่างกันอย่างมาก โดยผลการวิจัยพบว่า เกาะแอนตาร์กติกและซับแอนตาร์กติกสูญเสียปริมาตรไป 2% แต่ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอลป์และเทือกเขาพิเรนีสสูญเสียปริมาตรไป 39% ในเวลาไม่ถึง 25 ปี
นักวิจัยเปิดเผยว่า ธารน้ำแข็งสูญเสียมวลน้ำแข็งสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2565-2566 เนื่องจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น
การละลายของธารน้ำแข็งมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น, ภาวะน้ำท่วม และภัยแล้ง