จีนพบไวรัสใหม่จากค้างคาว อาจแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้เหมือนโควิด-19

ข่าวต่างประเทศ Saturday February 22, 2025 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิจัยจีนรายงานว่า ไวรัสโคโรนา HKU5-CoV-2 จากค้างคาวที่ค้นพบใหม่นั้น ใช้โปรตีนผิวเซลล์ในการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้เหมือนกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ว่า ไวรัสนี้อาจแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ในอนาคต แต่ไวรัสจากค้างคาวนี้ยังไม่สามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ง่ายเหมือนกับ SARS-CoV-2

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิจัยจีนรายงานในวารสาร Cell โดยได้กล่าวถึงข้อจำกัดบางประการของไวรัสจากค้างคาวที่ค้นพบใหม่ว่า ยังไม่สามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ง่ายเหมือนกับไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งทำให้เกิดโรคโควิด-19

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ไวรัสค้างคาว HKU5-CoV-2 มีลักษณะเช่นเดียวกับ SARS-CoV-2 ที่เรียกว่า "furin cleavage site" ซึ่งช่วยให้มันเข้าสู่เซลล์ผ่านทางโปรตีน ACE2 บนผิวเซลล์

ในการทดลองในห้องปฏิบัติการ ไวรัส HKU5-CoV-2 จากค้างคาวสามารถติดเชื้อเซลล์มนุษย์ที่มีระดับ ACE2 สูงในหลอดทดลอง และในแบบจำลองของลำไส้และทางเดินหายใจของมนุษย์

ในการทดลองเพิ่มเติมนั้น นักวิจัยสามารถระบุแอนติบอดีโมโนโคลนัล (monoclonal antibodies) และยาต้านไวรัสที่สามารถจัดการกับไวรัสค้างคาวนี้ได้

เมื่อถามถึงข้อกังวลที่เกิดขึ้นจากการรายงานไวรัสตัวใหม่ที่อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหม่นั้น ดร.ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาของสหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้คนวิตกกังวลเกินไปเกี่ยวกับผลการศึกษานี้

เขากล่าวว่า ในปัจจุบันประชากรมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS ที่มีความคล้ายคลึงกัน มากขึ้นกว่าในปี 2562 ซึ่งอาจลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด

ผลการศึกษายังระบุว่าไวรัสในค้างคาวนี้มีความสามารถในการจับกับโปรตีน ACE2 ของมนุษย์ได้น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ SARS-CoV-2 และยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้มันปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้ยาก ดังนั้นความเสี่ยงที่จะระบาดในมนุษย์จึงไม่ควรจะถูกพูดเกินจริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ