รายงานจากกลุ่มบรรเทาทุกข์ที่เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยรุนแรงในเมียนมา ระบุว่า ผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันศุกร์ (28 มี.ค.) ซึ่งมีขนาด 7.7 และคร่าชีวิตกว่า 2,000 ราย กำลังเผชิญความต้องการเร่งด่วนด้านที่พักพิง อาหาร และน้ำสะอาด ด้านองค์กรที่ทำงานใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวชี้ว่า จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่สำหรับผู้รอดชีวิตจำนวนมากที่กลายเป็นคนไร้บ้านและตกอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง
คณะกรรมการช่วยเหลือและกู้ภัยนานาชาติ (IRC) ให้ข้อมูลว่า ผู้รอดชีวิตจำนวนมากยังคงนอนตามท้องถนนหรือที่โล่งแจ้ง เพราะยังหวาดกลัวอาฟเตอร์ช็อก แม้บ้านจะยังไม่พังก็ตาม ขณะที่พื้นที่ปลอดภัยในเมืองต่าง ๆ ก็มีจำกัด ทำให้มีความต้องการเต็นท์อย่างเร่งด่วน เช่นเดียวกับความช่วยเหลือที่จำเป็นอื่น ๆ ทั้งการรักษาพยาบาล น้ำดื่ม และอาหาร
แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษของเมียนมา เกิดขึ้นช่วงกลางวันของวันศุกร์ โดยสื่อทางการเมียนมารายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการที่ 2,065 ราย บาดเจ็บกว่า 3,900 ราย และสูญหายอย่างน้อย 270 ราย ขณะที่รัฐบาลทหาร ซึ่งครองอำนาจหลังรัฐประหารปี 2564 ได้ประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการกู้ภัยและส่งความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่ดำเนินอยู่ ประกอบกับการควบคุมเครือข่ายสื่อสารที่เข้มงวดของรัฐบาลทหาร นอกจากนี้ ความเสียหายต่อถนน สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ จากแผ่นดินไหว ก็ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าถึงผู้ประสบภัยได้ยากขึ้นไปอีก
มีรายงานจากเมืองมัณฑะเลย์ว่า ชาวบ้านต้องพยายามรวมกลุ่มกันขุดค้นหาร่างผู้เสียชีวิตจากซากอาคารด้วยตัวเอง เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์และทีมกู้ภัย ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากท่ามกลางความหวาดกลัวอาฟเตอร์ช็อกและการนอนกลางแจ้ง
ขณะเดียวกัน ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเกิดพังถล่มลงมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากอาคารต่อเนื่อง โดยมียอดผู้เสียชีวิตที่ยืนยัน ณ จุดเกิดเหตุแล้ว 13 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 74 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมในไทยจากเหตุการณ์นี้อยู่ที่ 20 ราย
ด้านเจ้าหน้าที่ไทยได้เริ่มสอบสวนหาสาเหตุการถล่มแล้ว เบื้องต้นพบว่าตัวอย่างเหล็กโครงสร้างบางส่วนที่เก็บจากที่เกิดเหตุ ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด