(เพิ่มเติม) โป๊ปฟรานซิสสิ้นพระชนม์แล้ว พระชนมายุ 88 พรรษา

ข่าวต่างประเทศ Monday April 21, 2025 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้สิ้นพระชนม์แล้วในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น (21 เม.ย.) ด้วยพระชนมายุ 88 พรรษา ณ ที่ประทับในพระวิหารคาซา ซานตา มาร์ตา ในนครวาติกัน

พระคาดินัล เควิน ฟาร์เรลล์ เลขาธิการพระราชวังพระสันตะปาปา ประกาศว่า "เมื่อเวลา 07.35 น. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้กลับสู่นิเวศน์ของพระบิดา พระองค์ได้ทรงอุทิศชีวิตตลอดพระชนม์ชีพในการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าและคริสตจักรของพระองค์ พระองค์ทรงสอนให้เราดำเนินชีวิตตามคุณค่าของพระกิตติคุณด้วยความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ และความรักที่เป็นสากล โดยเฉพาะต่อผู้ที่ยากจนที่สุดและผู้ที่เล็กน้อยที่สุด"

  • พระประวัติโป๊ปฟรานซิส

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสประสูติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรนิกายโรมันคาทอลิก และเป็นที่รู้จักในฐานะสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ทรงพยายามส่งเสริมสันติภาพ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และสนับสนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พระองค์ได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ไม่กี่วันหลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสร้างความตกตะลึงให้กับคนทั่วโลกด้วยการเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกในรอบ 600 ปีที่สละตำแหน่งโดยสมัครใจ โดยทรงอ้างเหตุผลด้านสุขภาพ

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเป็นพระสันตะปาองค์แรกจากลาตินอเมริกา และเป็นพระสันตะปาปาจากคณะเยซูอิต (Jesuit) องค์แรก

  • ทรงพระประชวร

ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ในช่วงเช้าวันนี้ พระองค์ประชวรด้วยโรคปอด โดยเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ปีนี้ แซร์โจ อัลฟิเอรี หัวหน้าคณะแพทย์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เปิดเผยว่า พระองค์เกือบสิ้นพระชนม์ในระหว่างการต่อสู้กับพระอาการประชวรด้วยโรคปอดนาน 38 วันที่โรงพยาบาล จนคณะแพทย์ของพระองค์พิจารณาที่จะยุติการรักษาเพื่อให้พระองค์สิ้นพระชมน์อย่างสงบ

อัลฟิเอรี แพทย์ประจำโรงพยาบาลเจเมลลี (Gemelli) ในกรุงโรมระบุว่า หลังจากพระองค์ทรงมีอาการหลอดลมหดเกร็งเมื่อวันที่ 28 ก.พ. จนเกือบทรงสำลักพระอาเจียน ก็มีความเสี่ยงที่พระองค์อาจไม่รอดชีวิต พร้อมเปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์คอร์ริเอเร เดลลา เซรา (Corriere della Sera) ของอิตาลีว่า คณะแพทย์ต้องเลือกว่าจะยุติการรักษาและปล่อยให้พระองค์สิ้นอย่างสงบ หรือฝืนรักษาต่อไปโดยใช้ยาและการรักษาทุกวิธีที่เป็นไปได้ แม้เสี่ยงสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะอื่น ๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว คณะแพทย์ก็เลือกทำการรักษาพระองค์ต่อไป จากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จกลับนครรัฐวาติกันในวันอาทิตย์ 23 มี.ค. หลังจากทรงต่อสู้กับพระอาการประชวรจากวิกฤตสุขภาพร้ายแรงที่สุดในช่วง 12 ปีที่ทรงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา

พระองค์ทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงโรมนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. เนื่องจากมีพระอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรังที่ลุกลามจนกลายเป็นโรคปอดบวมทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นอาการที่ร้ายแรงสำหรับพระองค์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์มีอาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และทรงต้องตัดปอดข้างหนึ่งออกไปบางส่วน

  • อาลัยโป๊ปฟรานซิส ผู้ทรงห่วงใยประชาชนโดยไม่แบ่งเชื้อชาติและศาสนา

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงห่วงใยประชาชนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนที่นับถือศาสนาต่างจากพระองค์ โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ปีนี้ พระองค์ทรงออกมาคัดค้านแผนการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ในการอพยพชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซา โดยพระองค์ทรงเตือนว่า นโยบายดังกล่าวจะจบลงอย่างเลวร้าย

ในหนังสือที่มีการส่งไปยังบรรดาบิชอปในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสระบุว่า บรรดาประชาชาติล้วนมีสิทธิที่จะปกป้องตนเอง และการใช้กำลังในการอพยพประชาชนถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของคนเป็นจำนวนมากและครอบครัวของพวกเขา ทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะเปราะบางและไร้ซึ่งการปกป้อง

ทั้งนี้ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับปธน.ทรัมป์ โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ปธน.ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสว่า ผู้ใดก็ตามที่สร้างกำแพงเพื่อกีดกันผู้อพยพ ผู้นั้นไม่ใช่คริสเตียน

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเคยเรียกร้องให้ปล่อยตัว อองซาน ซูจี อดีตผู้นำเมียนมาและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ถูกคุมขังอยู่ในเมียนมา โดยทรงเสนอให้นครรัฐวาติกันเป็นที่ลี้ภัยให้กับซูจี

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังเสด็จเยือนมัสยิดอิสติกลัล ซึ่งเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 โดยทรงเชิญชวนชาวมุสลิมและชาวคริสต์นิกายคาทอลิก ร่วมกันผลักดันให้ผู้นำทั่วโลกหันมาแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาแนวคิดสุดโต่ง พร้อมทั้งทรงเน้นย้ำถึงรากฐานความเชื่อที่เชื่อมโยงศาสนาต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเคยขอร้องประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียโดยตรงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ปีนี้ โดยทรงเรียกร้องให้ปธน.ปูติน "ยุติความรุนแรงและความตายที่ไม่รู้จักจบสิ้น" ในยูเครน และยังตรัสด้วยว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นกำลังนำไปสู่ความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทั่วโลกอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้

*เสด็จเยือนประเทศไทย

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้เสด็จเยือนประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562 ก่อนที่จะเสด็จไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ที่สมเด็จพระสันตะปาปะเสด็จเยือนไทยและญี่ปุ่น นอกจากนี้ การเดินทางเยือนไทยและญี่ปุ่นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการหารือกับผู้นำในศาสนาอื่นเพื่อส่งเสริมสันติภาพในระดับโลก

ทั้งนี้ การเสด็จเยือนไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรงกับวาระครบรอบปีที่ 350 ของการก่อตั้ง "มิสซังแห่งกรุงสยาม" โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 เพื่อดูแลการเผยแพร่ศาสนาในกรุงสยาม

ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เคยเสด็จเยือนญี่ปุ่นในปี 2524 และเสด็จเยือนไทยในปี 2527


แท็ก เควิน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ