In Focus"ไวรัสซิกา" มหันตภัยที่ลุกลาม เสี่ยงคุกคามมวลมนุษยชาติ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 3, 2016 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากยุงตัวเล็กๆได้สร้างความหวาดกลัวไวรัสไข้เลือดออกที่ได้แพร่ระบาดชุกชุมในช่วงที่ผ่านมา ยังมีไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่มีต้นตอมาจากยุงและไม่ใช่โรคใหม่ แต่มีแนวโน้มจะกลายเป็นภัยคุกคามครั้งรุนแรงต่อมนุษยชาติ ไวรัสที่ว่านี้ก็คือไวรัสซิกา (Zika)

ต้นกำเนิดไวรัสซิกา

ไวรัสซิกาได้มีการตรวจพบครั้งแรกที่ทวีปแอฟริกา ในฝูงลิงแห่งป่า Zika Forest ประเทศยูกันดาเมื่อปี 2490 ขณะที่มนุษย์คนแรกที่ติดเชื้อไวรัสซิกาอยู่ในประเทศไนจีเรียเมื่อปี 2497 และหลังจากนี้นก็ได้มีการแพร่ระบาดไปในแอฟริกา หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ไม่ได้มีความรุนแรงและไม่ได้ถือเป็นภัยคุกคามต่อสุขอนามัยของประชาชนแต่อย่างใด

จนกระทั่งในปี 2558 เมื่อมีรายงานการติดเชื้อไวรัสซิกาในบราซิล ซึ่งนับเป็นการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในภูมิภาคอเมริกาใต้ และได้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นก็มีรายงานการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในหลายประเทศของทวีปอเมริกา

ซิกาแพร่ระบาดอย่างไร

เชื้อไวรัสซิกามียุงลายบ้านที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aedes aegypti เป็นพาหะ โดยยุงชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไปในทวีปอเมริกา ยกเว้นเพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งมีสภาพอากาศหนาวเย็นเกินกว่าที่ยุงชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้

ยุงจะกินเลือดของคนที่ติดเชื้อ และเมื่อยุงไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อให้แก่คนคนนั้นต่อไป ซึ่งคล้ายคลึงกับการแพร่ระบาดของไวรัสไข้เลือดออก

อาการของผู้ได้รับเชื้อไวรัสซิกา

อาการโดยทั่วไปจะรวมถึงอาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เยื่อตาอักเสบ ตาแดง ปวดตามข้อและมีผื่นแดงตามผิวหนัง โดยผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยาที่จะรักษา ผู้ป่วยมักจะได้รับคำแนะนำให้พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ โดยจะเป็นการรักษาไปตามอาการ และผู้ป่วยจะหายได้เองใน 7 วัน

อย่างไรก็ตาม ไวรัสซิกาดูเหมือนจะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงและน่าหวาดวิตกที่สุดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเชื้อนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของตัวอ่อนระหว่างที่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งจะส่งผลให้ทารกแรกคลอดมีขนาดของศีรษะเล็กกว่าปกติ หรือที่เรียกว่าภาวะ microcephaly และจะกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ขณะเดียวกันหญิงตั้งครรภ์จะไม่รู้ว่าทารกมีความผิดปกติ และจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วเท่านั้น

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างโรคไข้ซิกากับภาวะศีรษะเล็กกว่าปกติ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตในวงกว้าง โดยนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว มีรายงานของภาวะศีรษะเล็กกว่าปกติของทารกในบราซิลราว 4,000 ราย

เมื่อพิจารณาถึงความน่ากลัวของเชื้อไวรัสดังกล่าว หลายประเทศในละตินอเมริกาถึงขั้นออกมาเตือนผู้หญิงในประเทศให้เลี่ยงการตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็เตือนให้หญิงตั้งครรภ์เลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส

ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีหญิงตั้งครรภ์ในโคลัมเบียที่ติดเชื้อแล้วเกือบ 2,000 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศกว่า 20,000 ราย

บราซิลเดือดร้อน เหตุใกล้ในช่วงโอลิมปิก

บราซิลนับเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวและวิตกกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับไวรัสซิกา เพราะบราซิลจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคมนี้

คณะทำงานตรวจสอบโครงการและระบบภายใต้มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะเริ่มดำเนินการก่อนที่การแข่งขันจะเปิดฉากขึ้น 4 เดือน เพื่อกำจัดพื้นที่แพร่พันธุ์ของยุง นอกจากนี้ ก็จะมีการทำลายพื้นที่เพาะพันธุ์แบบรายวันในระหว่างที่มีการแข่งขัน

ส่วนการรมควันนั้นอาจจะเป็นเพียงทางเลือกที่จะดำเนินการในบางกรณีเท่านั้น เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพของนักกีฬาและผู้เข้าร่วมชมการแข่งขัน

ทั้งนี้ ทางการบราซิลคาดหวังว่าในช่วงเดือนดังกล่าวจะมียุงจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากจะเป็นช่วงที่มีอากาศเย็นลงและความชื้นลดลง

ขณะเดียวกัน นายเอดูอาร์โด ปาเอส นายกเทศมนตรีกรุงริโอเดจาเนโร ออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่า ไวรัสซิกาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันโอลิมปิกที่กำลังจะมีขึ้น

นายปาเอสกล่าวกับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่า เนื่องจากโอลิมปิก เกมส์จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ตรงกับช่วงฤดูหนาวในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นฤดูที่ไม่มียุงชุกชุม จึงมั่นใจว่าไข้ซิกาที่มียุงเป็นพาหะนำโรค จะไม่แพร่ระบาดและเป็นภัยต่อการแข่งขัน

WHO ตื่นตัว-ทั่วโลกตื่นตระหนก

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าอาจจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสซิการาว 3-4 ล้านคนในทวีปอเมริกาในปีนี้ โดยดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการ WHO ระบุว่าไวรัสซิกาได้แปรสภาพจากภัยคุกคามที่ไม่รุนแรงมาเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าวิตก โดยมีการแพร่ระบาดไปแล้วใน 23 ประเทศภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ขณะเดียวกัน ทางสหรัฐหวังว่าจะสามารถเริ่มทดลองใช้วัคซีนต้านไว้รัสซิกาได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาเตือนว่าอาจจะใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าที่วัคซีนต้านไวรัสซิกาจะได้รับการรับรองจากหน่วยงานทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้กับประชาชนทั่วไปได้

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา WHO ได้จัดการประชุมนัดพิเศษว่าด้วยไวรัสซิกา และประกาศให้ไวรัสซิกาเป็น "ภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก"

ก่อนหน้านี้ WHO ได้ประกาศภัยฉุกเฉินเมื่อปี 2557 ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก เช่นเดียวกับวิกฤตไข้หวัดหมูเมื่อปี 2552

โลก “ช็อก" หลังมีข่าวติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ล่าสุด สื่อต่างประเทศรายงานว่ามีการติดเชื้อไวรัสซิกาในสหรัฐโดยที่ไม่ได้มียุงเป็นพาหะ แต่ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกาในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส มีแนวโน้มจะได้รับเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากผู้ป่วยไม่เคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด แต่คนที่ผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้นได้เดินทางกลับมาจากเวเนซูเอลา

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ CDC กล่าวว่านี่เป็นกรณีแรกที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปยังพื้นที่การแพร่ระบาด

แถลงการณ์ของ CDC ระบุว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสซิกาก็คือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด และเลี่ยงการสัมผัสกับอสุจิของผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อไวรัสซิกา

นักวิเคราะห์มองว่า หากไวรัสซิกาสามารถแพร่ระบาดผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็จะนับเป็นความเสี่ยงต่อทุกประเทศ ไม่เพียงแต่ประเทศที่มียุงลาย Aedes aegypti เท่านั้น

ทั้งนี้ สถานการณ์เกี่ยวกับไวรัสซิกายังไม่นิ่ง และในแต่ละวันก็จะมีความคืบหน้าที่ก่อให้เกิดความวิตกและบ่งชี้ถึงความรุนแรงของสถานการณ์มากขึ้น วิธีการที่ดีที่สุดในเบื้องต้นก็คือการดูแลตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งน่าจะช่วยป้องกันภัยจากไวรัสซิกาได้ไม่มากก็น้อย

ส่วนความรุนแรงของสถานการณ์ไวรัสซิกานั้น ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไป และเอาใจช่วยให้มีการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนในการต้านไวรัสซิกาได้สำเร็จโดยเร็ว!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ