In Focusนโยบายดอกเบี้ยติดลบ: ไพ่ตายบีโอเจสยบเงินฝืด?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 10, 2016 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้สร้างความประหลาดใจต่อตลาดการเงินทั่วโลกในการประชุมปลายเดือนที่แล้ว ด้วยการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเงินของญี่ปุ่นที่มีการใช้นโยบายดังกล่าว และส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นพุ่งกันถ้วนหน้า ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่า และเยนร่วงลงทันที

ถึงแม้มีธนาคารกลางหลายแห่งที่ได้เคยประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ BOJ ก็ได้รับเครดิตว่าเป็นธนาคารกลางแห่งแรกของโลกที่เริ่มพิจารณานโยบายดังกล่าวตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืดที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น

คอลัมน์ “In Focus" ของ InfoQuest ขอนำผู้อ่านมารู้จักนโยบายดังกล่าว ความเป็นมา และสาเหตุที่ญี่ปุ่นต้องนำนโยบายนี้มาใช้ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ดังนี้

*อัตราดอกเบี้ยติดลบคืออะไร

โดยทั่วไป สถาบันการเงินเอกชน หรือธนาคารพาณิชย์ที่เป็นฝ่ายรับเงินฝาก จะจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้นำเงินมาฝาก เพื่อตอบแทนจากการที่สถาบันการเงินแห่งนั้นสามารถนำเงินฝากดังกล่าวไปทำประโยชน์ได้ เช่น ปล่อยกู้ หรือนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนมากขึ้น

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจคึกคัก และมีความต้องการเงินลงทุนมาก สถาบันการเงินจะใช้วิธีปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้ฝากเงินนำเงินมาฝากที่สถาบันของตน เพื่อให้มีความมั่นใจเกี่ยวกับสภาพคล่อง หากภาคธุรกิจต้องการเข้ากู้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุน

อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา กำลังซื้อของผู้บริโภคตกต่ำลง ทำให้ภาคธุรกิจลดการลงทุน ส่งผลให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเหลืออยู่มาก เนื่องจากการกู้ยืมและการลงทุนของภาคเอกชนลดน้อยลง สถาบันการเงินจึงทำการลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งอาจจะเข้าใกล้ 0% หรือแตะ 0% เพื่อสกัดเงินฝาก และส่งสัญญาณแก่ผู้ฝากเงินว่าจะไม่ได้รับดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนจากการฝากเงินแต่อย่างใด เพราะหากธนาคารไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ทางธนาคารยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากต่อไป ขณะที่รายได้จากการปล่อยกู้ลดน้อยลง

และในกรณีที่ธนาคารมีสภาพคล่องล้นระบบจนไม่สามารถรับเงินฝากเพิ่มได้อีก ธนาคารอาจถึงขั้นใช้มาตรการสุดโต่งในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ ซึ่งหมายความว่า ผู้ฝากเงินนอกจากจะเอาเงินมาฝากกับธนาคารแล้ว ยังต้องเป็นฝ่ายเสียค่าฝากให้แก่ธนาคารด้วย ซึ่งก็คงจะทำให้ผู้ฝากเงินจำนวนหนึ่งล้มเลิกความตั้งใจในการฝากเงินกับธนาคาร ยกเว้นแต่เพียงผู้ฝากเงินที่มีเงินมาก และยอมจ่ายค่าฝากให้แก่ธนาคาร โดยคิดเสียว่าเป็นค่าดูแลเงินฝากให้มีความปลอดภัย โดยมีตัวอย่างมาแล้วคือ Danske Bank ในเดนมาร์ก ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยติดลบสำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นสถาบัน ซึ่งมีเงินฝากจำนวนมาก

ส่วนในกรณีของธนาคารกลางนั้น การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ถือเป็นนโยบายการเงินแบบพิเศษที่มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านมหภาคที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อป้องกันการพุ่งขึ้นของค่าเงินในประเทศ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ หรือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

*เจาะลึกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ประกาศใช้นโยบาย "อาเบะโนมิกส์" ที่ประกอบด้วยการทุ่มงบใช้จ่าย และการดำเนินนโยบายผ่อนคลายครั้งใหญ่ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่หลังจากที่ใช้มานาน 3 ปี มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่อเศรษฐกิจ ทำให้ BOJ อยู่ในภาวะหลังพิงฝาที่ต้องหาเครื่องมือทางการเงินอันใหม่ที่ญี่ปุ่นยังไม่เคยลองมาก่อน โดยหวังว่าจะส่งผลที่แตกต่างจากมาตรการที่เคยใช้ในอดีต

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. BOJ มีมติ 5-4 เสียง ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบคือ -0.1% สำหรับสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่นำเงินไปฝากไว้กับ BOJ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.พ. ซึ่งหมายความว่า ตั้งแต่วันดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์จะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าฝากแก่ BOJ หากมีการนำเงินส่วนเกินมาพักไว้ที่ BOJ โดยมาตรการของ BOJ ในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ แทนที่จะนำมาพักไว้ที่ BOJ และต้องการลดการออมของประชาชน เพื่อให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง

ในความเป็นจริงนั้น การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ไม่ได้หมายความว่า เงินฝากทั้งหมดที่สถาบันการเงินนำมาฝากไว้กับ BOJ จะต้องใช้อัตราดอกเบี้ย -0.1% เนื่องจาก BOJ ได้แบ่งประเภทของเงินในดุลบัญชีเดินสะพัดออกเป็น 3 ส่วน และคิดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

โดยส่วนแรกเรียกว่า Basic Balance มีสัดส่วนมากที่สุดคือประมาณ 210 ล้านล้านเยน เป็นยอดคงค้างของบัญชีในส่วนที่สถาบันการเงินฝากไว้ก่อนหน้านี้ระหว่างเดือนม.ค.ถึงธ.ค.2015 ยังคงได้รับดอกเบี้ยจาก BOJ ในอัตรา 0.1%

ส่วนกลุ่มที่ 2 เรียกว่า Macro Add-on Balance มีสัดส่วนประมาณ 9 ล้านล้านเยน ประกอบด้วย 1) เงินสำรองตามกฎหมายที่สถาบันการเงินต้องดำรงไว้กับ BOJ 2) ตัวเลขกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อในโครงการช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆ 3) เงินทุนส่วนที่ BOJ เห็นว่าควรเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคุณภาพ (QQE) ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยทั้งหมดนี้ BOJ ให้อัตราดอกเบี้ย 0% ซึ่งก็คือไม่มีการให้ดอกเบี้ย

และสุดท้ายกลุ่มที่ 3 คือ บัญชี Policy-Rate Balance เป็นส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นยอดบัญชีเดินสะพัดที่เหลือจากส่วนที่ 1 และ 2 โดยส่วนนี้เป็นส่วนที่ BOJ คิดอัตราดอกเบี้ย -0.1% ซึ่งหมายความว่าสถาบันการเงินจะต้องเป็นฝ่ายจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ BOJ ในอัตรา 0.1% หากมีการนำเงินมาพักที่ BOJ ในส่วนนี้

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้ความพยายามมานานในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยครั้งหนึ่งรัฐบาลถึงกับออกคูปองช็อปปิ้งให้แก่ประชาชนเพื่อให้ไปซื้อสินค้า หลังจากที่ประเทศเผชิญปัญหาเงินฝืดเป็นเวลากว่า 10 ปี

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ระบุว่า BOJ จะลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้น หากมีความจำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2%

ขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นชะลอตัวอยู่ที่ 0.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของ BOJ อยู่มาก

BOJ หวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะจูงใจให้มีการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภค และส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเร่งการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

การประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้มีเงินฝากใน BOJ แต่ธนาคารพาณิชย์จะใช้วิธีผลักภาระค่าใช้จ่ายที่ทางธนาคารได้รับจากนโยบายดังกล่าวต่อไปยังผู้บริโภค ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับลูกค้ารายย่อยในที่สุด

สื่อพร้อมใจการขนานนามการตัดสินใจใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ในครั้งนี้ว่า “คุโรดะ บาซูกา" ตามชื่อของผู้ว่า BOJ

นายคุโรดะขึ้นชื่อเกี่ยวกับการทำอะไรที่เซอร์ไพรส์นักลงทุนเสมอ ซึ่งก่อนหน้าที่จะประกาศใช้นโยบายนี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ เขาเพิ่งแถลงในคณะกรรมาธิการงบประมาณของรัฐสภาญี่ปุ่นว่า เขาจะไม่ประกาศใช้มาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ จึงช็อคตลาด และส่งผลให้เยนดิ่งลงทันทีเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ เนื่องจากมีการไหลออกของกระแสเงินทุนไปยังประเทศต่างๆ และส่งผลให้ตลาดหุ้นในหลายประเทศดีดตัวขึ้น

*ส่องกล้องการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของประเทศอื่น

การดำเนินนโยบายทางการเงินถือเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางต่างๆในการควบคุมเงินเฟ้อ และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ซึ่งหากทางธนาคารกลางมองว่านโยบายอื่นไม่ได้ผล ก็จะหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางต่างๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอหลังเกิดวิกฤตการเงิน ท่ามกลางการลงทุนที่ลดต่ำลง โดยจะเป็นการไล่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ออกจากธนาคารกลาง เพื่อให้ไปปล่อยกู้ต่อภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบจะใช้ได้ผลมากที่สุดขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่อ่อนแอ และมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ

ธนาคารกลางยุโรป (ECB), เดนมาร์ก สวีเดน รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็น 4 ธนาคารกลางที่ได้ตัดสินใจก่อนหน้านี้ในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบสำหรับเงินฝากส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ที่นำมาฝากไว้กับธนาคารกลาง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นผู้จ่ายค่าฝากให้แก่ธนาคารกลาง

จุดประสงค์ของการใช้นโยบายดังกล่าวของ ECB ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของยุโรปยังคงอยู่ห่างจากเป้าหมายที่ระดับใกล้ 2% ของ ECB

หากยุโรปตกอยู่ในภาวะเงินฝืด ก็จะส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าจะลดลงต่อไปอีก ดังนั้นพวกเขาจะชะลอการซื้อออกไป ส่งผลให้การลงทุนซบเซา และกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ส่วนจุดประสงค์ในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางสวีเดนก็เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อเช่นกัน

การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางเดนมาร์กและสวิตเซอร์แลนด์ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สกุลเงินในประเทศแข็งค่ามากเกินไปจนกระทบต่อการส่งออก โดยจะทำให้นักลงทุนหมดความสนใจที่จะลงทุนในสกุลเงินดังกล่าว ซึ่งก็จะช่วยสกัดการปรับตัวขึ้นของค่าเงิน หลังจากที่นักลงทุนแห่เข้าซื้อสกุลเงินของทั้ง 2 ประเทศในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางการดิ่งลงของค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย และการทรุดตัวของราคาน้ำมัน

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษได้เคยพิจารณาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.พ.2013 แต่ก็ได้ตัดสินใจยกเลิกการใช้นโยบายดังกล่าวในเดือนพ.ค.ปีเดียวกัน อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางระบุในขณะนั้นว่าการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบยังคงถือเป็นทางเลือกหนึ่ง

ในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น ถึงแม้ขณะนี้มีการมองกันว่า อัตราดอกเบี้ยของเฟดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากที่เฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนธ.ค.2015 แต่ในการจำลองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสำหรับการทดสอบภาวะวิกฤตในภาคธนาคาร เฟดก็ได้ตั้งสมมุติฐานของการเกิดภาวะอัตราดอกเบี้ยติดลบด้วยเช่นกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในตลาดการเงินสหรัฐ และหากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยอย่างหนักจนมาตรการอย่างอื่นของเฟดไม่สามารถแก้ไขได้ เราก็อาจจะเห็นเฟดหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบตามอย่างธนาคารกลางอื่นๆทั่วโลก

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด เคยกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในเดือนพ.ย.2015 ว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวย่ำแย่ลงไปอีก เฟดก็จะพร้อมใช้เครื่องมือทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

*ดาบ 2 คมของนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ

นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ส่งผลให้เยนอ่อนค่าลง ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในการส่งออก และสิ่งนี้จะมีผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่นขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากจะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามีเงินในกระเป๋าสำหรับช้อปปิ้งมากขึ้น จากเดิมที่ญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้ว จากการใช้มาตรการปลอดวีซ่าของทางการญี่ปุ่น

นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังทำให้อัตราดอกเบี้ยจำนองลดต่ำลง รวมทั้งทำให้อัตราดอกเบี้ยไฟแนนซ์เพื่อซื้อรถยนต์ลดลง

อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ก็ได้ทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ให้แก่ผู้ฝากเงินด้วย และยังส่งผลกระทบต่อผลกำไรของสถาบันการเงิน

ธนาคารยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น 4 ใน 5 แห่งรายงานกำไรสุทธิร่วงลงในช่วงเดือนเม.ย.-ธ.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายก่อนหน้านี้ของ BOJ ซึ่งได้ฉุดให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดต่ำลง และกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจปล่อยสินเชื่อ

นอกจากนี้ แนวโน้มของภาคธนาคารญี่ปุ่นยิ่งซบเซาลง หลัง BOJ ประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ปรายงานกำไรสุทธิลดลง 8.1% ในช่วงเดือนเม.ย.-ธ.ค., ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กำไรร่วงลง 8.2%, มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กำไรลดลง 0.7% ส่วนเรโซนา โฮลดิ้งกำไรดิ่งลง 32%

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินของญี่ปุ่นหลายแห่งก็ได้ประกาศระงับการลงทุนในกองทุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) เนื่องจากความไม่แน่นอนต่อผลตอบแทนของ JGB

ไดวา แอสเซ็ท แมเนจเมนท์ ระบุในแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทจะระงับการขายกองทุน 3 กองทุน ขณะที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงต่อไปในตลาดสินเชื่อระยะสั้นตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของ BOJ

เมื่อวานนี้ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของ JGB อายุ 10 ปี ดิ่งลงติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยร่วงลง 0.065% สู่ระดับ -0.030% โดยอัตราผลตอบแทน JGB ถูกกดดันนับตั้งแต่ที่ BOJ ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อปลายเดือนที่แล้ว และการที่นักลงทุนแห่เข้าซื้อ JGB ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเมื่อวานนี้ ท่ามกลางภาวะทรุดตัวของราคาน้ำมัน และตลาดหุ้นทั่วโลก ก็ได้ฉุดให้อัตราผลตอบแทนร่วงลงสู่แดนลบ

*นักวิเคราะห์หวั่นกระสุนด้านจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ

นายมาร์ติน ชูลซ์ นักวิเคราะห์จากสถาบันฟูจิตสึในกรุงโตเกียว กล่าวว่า “การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบถือเป็นเครื่องมือสุดท้ายในกล่องเครื่องมือของ BOJ แต่ผลกระทบคงมีไม่มากนัก"

“ญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมายาวนาน การปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีการขยายตัวไม่ใช่เพราะธนาคารไม่เต็มใจปล่อยเงินกู้ แต่เป็นเพราะภาคธุรกิจมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปกู้เงินมาลงทุน และต่อให้มีการใช้ดอกเบี้ยติดลบ สถานการณ์นี้ก็จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง "

“ภาคธุรกิจไม่ได้ต้องการเงิน พวกเขาต้องการโอกาสในการลงทุน และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการปรับโครงสร้าง ไม่ใช่การใช้นโยบายการเงิน" เขากล่าว

นักวิเคราะห์อีกรายหนึ่งให้ความเห็นว่า นโยบายใหม่ของ BOJ ในครั้งนี้อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน แต่ก็ยังขาดแรงผลักดันในการเร่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอยู่ ทำให้ภาคครัวเรือนและบริษัทต่างๆไม่มีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ มีขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ BOJ ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (QQE) ด้วยการซื้อสินทรัพย์ครั้งใหญ่ แต่ก็ยังคงประสบความล้มเหลวในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน การใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบ ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะทำให้ชาวญี่ปุ่นลดการออม และหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือไม่ เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว การนำเงินออมเพื่ออนาคตไปใช้จ่ายย่อมเกิดความเสี่ยง

นอกจากนี้ การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ด้วยการใช้กับเฉพาะเงินสำรองส่วนเกินจากที่ต้องดำรงตามกฎหมายกับ BOJ ไม่ใช่แบบที่ติดลบกับเงินฝากของประชาชนอย่างบางประเทศในยุโรป ทำให้การฉุดให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดติดลบต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่า

ขณะเดียวกัน การที่ BOJ ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเฉพาะกับเงินสำรองส่วนเกินเท่านั้น จึงทำให้สถาบันการเงินในญี่ปุ่นอาจจะไม่เต็มใจปล่อยกู้มากนัก เนื่องจากไม่ต้องการได้รับอัตราดอกเบี้ย 0% หรืออาจจะถึงขั้นติดลบในอนาคตจากสำรองตามกฎหมายในส่วนของ Macro Add-on

นักวิเคราะห์มองว่าในท้ายที่สุดแล้ว นโยบายดังกล่าวของ BOJ คงช่วยไม่ได้มากนักในการดึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นจากภาวะซบเซา เพราะมาตรการนี้ประสบความสำเร็จน้อยมากในประเทศยุโรป โดยหลังจาก ECB ใช้นโยบายดังกล่าว ก็ได้ช่วยหนุนการกู้ยืมเฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัย แต่เงินเฟ้อยังคงห่างจากเป้าหมายที่ระดับ 2%

ส่วนการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางสวีเดนแทบไม่ได้ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การใช้นโยบายดังกล่าวในเดนมาร์กช่วยให้สกุลเงินโครนอ่อนค่าลงตามเป้าหมาย แต่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของภาคธนาคาร และการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ช่วยสกัดค่าเงินฟรังก์ไม่ให้พุ่งขึ้นได้ แต่ก็ต้องรอดูผลกระทบในระยะยาว

*นักวิเคราะห์เสียงแตกกรณีผลดี-ผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยจากนโยบาย BOJ

นักวิเคราะห์แสดงความเห็นที่แตกต่างกันต่อผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ โดยฝ่ายหนึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะทำให้มีเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทย และส่งผลให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้น

นักวิเคราะห์กลุ่มนี้ยังมองว่า การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหม่ของญี่ปุ่น จะช่วยหนุนให้ธนาคารกลางแห่งอื่นๆ หันมาดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภูมิภาค

นอกจากนี้ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นของ BOJ ในครั้งนี้ ซึ่งเปรียบเหมือนกับการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น หากได้ผล ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และอาจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์อีกฝ่ายหนึ่งเตือนให้ไทยระวังผลกระทบในทางลบจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ซึ่งได้ส่งผลให้เยนอ่อนค่าลง และบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย รวมทั้งอาจทำให้เกิดสงครามค่าเงินในประเทศต่างๆเพื่อปกป้องการส่งออกของตน

ขณะเดียวกัน ตลาดการเงินโลกจะมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นจากทิศทางที่แตกต่างกันของการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เฟดมีแนวโน้มดำเนินนโยบายที่คุมเข้มมากขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่วนเศรษฐกิจยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอน จะทำให้ ECB ขยายมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก ส่วนธนาคารกลางจีนอาจปรับลดค่าเงินหยวนลงอีก ซึ่งผลจากทิศทางของนโยบายทางการเงินโลกที่มีความหลากหลาย จะทำให้เกิดความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินทั่วโลก

ดังนั้น ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบของไทย ทั้งรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องเฝ้าจับตาดูผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ เพื่อปกป้องการส่งออกที่ยังคงหดตัวลง ขณะที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ